วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงแขกเชิญเจ้า เถา

เพลงแขกเชิญเจ้า เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงแขกเชิญเจ้า อัตรา ๒ ชั้น ประเภทหน้าทับสดายง (เทียบเท่าหน้าทับปรบไก่) มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๘ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี ๕ จังหวะ เป็นเพลงเก่าที่มีสำเนียงแขก เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ครูเฉลิม บัวทั่ง เมื่อครั้งเป็นผู้ควบคุมดนตรีไทยของกรมตำรวจ ได้นำเพลงแขกเชิญเจ้า ๒ ชั้น มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ทั้งทางร้องและทางดนตรี มีสำเนียงแขกเช่นเดียวกับ ๒ ชั้น ให้วงปี่พาทย์ไม้แข็งคณะศิษย์ดุริยศัพท์ (วงของครูเฉลิม บัวทั่ง) บรรเลงเป็นครั้งแรก ณ สังคีตศาลา กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ และได้นำมาให้วงดนตรีคณะเสริมมิตรบรรเลงบันทึกเสียงเพื่ออกอากาศทางสถานีวิทยุเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔
ประมาณพ.ศ.๒๔๙๙ นายมนตรี ตราโมท ได้นำเพลงแขกเชิญเจ้า ๒ ชั้น มาบรรจุเนื้อร้องใหม่ แล้วประดิษฐ์ท่ารำเป็นระบำเทพบันเทิง ประกอบในการแสดงละครเรืองอิเหนา ตอนลมหอบ

บทร้องเพลงแขกเชิญเจ้า เถา

๓ ชั้น คิดพลางทางถวายเครื่องบวงสรวง บำบวงเทวราชเรืองศรี
ขออารักษ์หลักเมืองเรืองฤทธี ได้ปรานีเชิญช่วยจงสมคิด
ให้ประไหมสุหรีนั้นมีบุตร เป็นบุรุษรูปโฉมประโลมใจ
ได้ครอบครองพระนครขจรฤทธิ์ ลือสะท้านทั่วทิศทั้งปวง
๒ ชั้น แม้สมปรารถนาดังว่าขาน จะแต่งแก้บนบานบวงสรวง
เทียนทองชวาลาบุปผาพวง พรรณรายรุ้งร่วงเนาวรัตน์
จะแผ่ทองเก้าหุ้มเสาศาล เอาตาดคำทำม่านเพดานดัด
อีกทั้งธงทิวราชวัติ ชุมสายเศวตฉัตรชัชวาล
ชั้นเดียว ทั้งแพะแกะโคกระทิงสิ่งละร้อย จะปล่อยไว้ในเทวสถาน
จะสมโภชเจ็ดทิวาราตรี มีงานมหรสพครบครัน

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

เพลงแขกเชิญเจ้า เถา

เพลงแขกเชิญเจ้า เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงแขกเชิญเจ้า อัตรา ๒ ชั้น ประเภทหน้าทับสดายง (เทียบเท่าหน้าทับปรบไก่) มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๘ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี ๕ จังหวะ เป็นเพลงเก่าที่มีสำเนียงแขก เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ครูเฉลิม บัวทั่ง เมื่อครั้งเป็นผู้ควบคุมดนตรีไทยของกรมตำรวจ ได้นำเพลงแขกเชิญเจ้า ๒ ชั้น มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ทั้งทางร้องและทางดนตรี มีสำเนียงแขกเช่นเดียวกับ ๒ ชั้น ให้วงปี่พาทย์ไม้แข็งคณะศิษย์ดุริยศัพท์ (วงของครูเฉลิม บัวทั่ง) บรรเลงเป็นครั้งแรก ณ สังคีตศาลา กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ และได้นำมาให้วงดนตรีคณะเสริมมิตรบรรเลงบันทึกเสียงเพื่ออกอากาศทางสถานีวิทยุเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔
ประมาณพ.ศ.๒๔๙๙ นายมนตรี ตราโมท ได้นำเพลงแขกเชิญเจ้า ๒ ชั้น มาบรรจุเนื้อร้องใหม่ แล้วประดิษฐ์ท่ารำเป็นระบำเทพบันเทิง ประกอบในการแสดงละครเรืองอิเหนา ตอนลมหอบ

บทร้องเพลงแขกเชิญเจ้า เถา

๓ ชั้น คิดพลางทางถวายเครื่องบวงสรวง บำบวงเทวราชเรืองศรี
ขออารักษ์หลักเมืองเรืองฤทธี ได้ปรานีเชิญช่วยจงสมคิด
ให้ประไหมสุหรีนั้นมีบุตร เป็นบุรุษรูปโฉมประโลมใจ
ได้ครอบครองพระนครขจรฤทธิ์ ลือสะท้านทั่วทิศทั้งปวง
๒ ชั้น แม้สมปรารถนาดังว่าขาน จะแต่งแก้บนบานบวงสรวง
เทียนทองชวาลาบุปผาพวง พรรณรายรุ้งร่วงเนาวรัตน์
จะแผ่ทองเก้าหุ้มเสาศาล เอาตาดคำทำม่านเพดานดัด
อีกทั้งธงทิวราชวัติ ชุมสายเศวตฉัตรชัชวาล
ชั้นเดียว ทั้งแพะแกะโคกระทิงสิ่งละร้อย จะปล่อยไว้ในเทวสถาน
จะสมโภชเจ็ดทิวาราตรี มีงานมหรสพครบครัน

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

เพลงแขกเงาะ เถา

เพลงแขกเงาะ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงแขกเงาะ อัตราชั้นเดียวของเก่า หน้าทับปรบไก่ มี๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๗ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี๘ จังหวะ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำทำนองชั้นเดียวมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๒ ชั้นและ ๓ ชั้น ครบเป็นเพลงเถา เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘

บทร้องเพลงแขกเงาะ เถา

๓ ชั้น ครั้นเสด็จสรงสนานสะอ้านแล้ว ผ่องแผ้วปรีดิ์เปรมเกษมศรี
ชวนเงาะน้อยนอนเล่นเย็นดี นึกเทวีเทวษในวิญญา
โอ้ลำหับจับอกของเรียมเอ๋ย ไฉนเลยจะได้สมปรารถนา
แต่วันเห็นไม่เว้นทุกข์ทุกเวลา มาติดตาเตือนใจให้จำนง
๒ ชั้น ทราบว่าเขามีคู่สู้ห้ามหัก ยิ่งรื้อรักใฝ่ใจจนใหลหลง
เมื่อยามนอนถอนใจไม่หลับลง จะปลดปลงเสียด้วยงามเพราะความรัก
จะคิดผ่อนผันฉันใด จึงจะให้เจ้าแจ้งจริงประจักษ์
แม้ได้ไม้ไผ่เป็นสื่อชัก ท่วงทีดีนักจะได้การ
ชั้นเดียว คิดพลางทางพูดกับไม้ไผ่ ชักใช้เรื่องราวกล่าวถึงบ้าน
แล้วถามถึงลำหับเยาวมาลย์ บัดนี้คิดอ่านประการใด
ว่าฮเนาเขามาขอต่อพ่อแม่ จริงเช่นนั้นแน่หรือไฉน
แม้กูรักพ้องต้องใจ นางจะรักข้างใครใคร่เชยชิด

บทละครเรื่องเงะป่า
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕

เพลงแขกขาว เถา

เพลงแขกขาว เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงแขกขาว อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ เป็นเพลงที่หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แต่งให้ปี่พาทย์วงสวนกุหลาบ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ใช้ร้องและบรรเลงแทรกในตับนางลอยแทนเพลงจีนขิมเล็กเมื่อราว พ.ศ.๒๔๖๔
ต่อมา พ.ศ.๒๔๗๓ ท่านจึงได้แต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา

บทร้องเพลงแขกขาว เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น ทอดองค์ลงกับที่บรรจถรณ์ จะเปลื้องเครื่องอาภรณ์ก็หาไม่
ให้ระทวยระทดสลดใจ แต่ตริตรึกนึกในไปมา
๒ ชั้น โอ้ว่าโฉมเฉลาเยาวลักษณ์ เสียดายศักดิ์วงค์อสัญแดหวา
จะระคนปนศักดิ์จรกา อนิจจาพี่จะทำประการใด
ชั้นเดียว จะคิดไฉนดีนะอกเอ๋ย จะได้เชยชมชิดพิสมัย
พระเร่งร้อนร่านทะยานใจ ดังเพลิงกาฬผลาญไหม้ทั้งกายา

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น เอนองค์ลงบนที่ไสยาสน์ ภูวนาถครวญใคร่ใฝ่ฝัน
ให้แสนเสน่หาอุณากรรณ หมายมั่นว่าเหมือนบุษบา
๒ ชั้น ทั้งทรวดทรงส่งศรีไม่เพี้ยนผิด ยิ่งคิดสงสัยเป็นหนักหนา
แล้วจะเป็นยาหยีของพี่ยา ดวงพักตร์ลักขณาละม้ายนัก




ชั้นเดียว อกเอ๋ยจะทำเป็นไฉน จึงจะสิ้นแหนงแจ้งประจักษ์
จะชวนสนิทติดพันผูกรัก พบพักตร์ก็เมินสะเทิ้นไป

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

เพลงแขกกุลิต เถา

เพลงแขกกุลิต เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงแขกหนัง อัตรา ๒ ชั้นของเก่า หน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว ๔ จังหวะ นายมนตรี -
ตราโมท ได้แต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ พร้องทั้งแต่งบทร้องและตั้งชื่อใหม่ตามถาษามลายู “เพลงแขกกุลิต” (คำว่า กุลิต แปล-ว่า หนัง)

บทร้องเพลงแขกกุลิต เถา

๓ ชั้น สายัณห์ตะวันชายฉายแสงส่อง ดังแสงทองส่องทอทิวกุหนุง
บุปผาหวนอวลอบตลบฟุ้ง กลิ่นจรุงเจริญใจใสสะคราญ
๒ ชั้น ดอกปาหนันพลันคลี่กลีบขยาย กลิ่นขยายปนรสสุคนธ์หวาน
ตันหยงร่วงหล่นพรูดูตระการ กุหลาบบานชูช่ออรชร
ชั้นเดียว บุหรงร้องก้องกึกอธึกป่า บ้างแถกแถโผผินเที่ยวบินร่อน
โกกิลาพาคู่สู่รังนอน หมู่ภมรว่อนหาผกาเชย
นายมนตรี ตราโมท แต่ง

เพลงเขมรเอวบาง เถา

เพลงเขมรเอวบาง เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรเอวบาง อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ จางวาง ทั่วพาทยโกศล ได้นำมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถาเพลงหนึ่ง และยังมีอีกทางหนึ่งไม่ทราบนามผู้แต่ง

บทร้องเพลงเขมรเอวบาง เถา

๓ ชั้น เมื่อนั้น นักคุ้มยินเสียงอึงมี่
จึงรีบออกไปดูที เผื่อจะมีเภทพาลประการใด
๒ ชั้น เห็นพระร่วงพ่อเมืองเรืองยศ เลี้ยวลดมาถึงเรือนใหญ่
กับเห็นพลเมืองชาวไทย แบกอะไรกันมาก่ายกอง
ชั้นเดียว รีบออกไปเพื่อจะได้รู้ตระหนัก ยืนชะงักชะเง้อคอจ้อง
เข้าใกล้ไปเพ่งเล็งมอง เห็นของประหลาดเหลือใจ

บทละครเรื่องพระร่วง
หรือกลอนบทละครเรื่องของดำดิน
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

เพลงเขมรใหญ่ เถา

เพลงเขมรใหญ่ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรใหญ่ อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๔ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ เป็นเพลงเรื่องมีเพลงเขมรน้อยและเพลงเขมรกลางรวมอยู่ด้วย ต่อมาพระยาดุริยศัพท์ (แปลก - ประสานศัพท์) ได้แต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น สำหรับบรรเลงในวงปี่พาทย์และเครื่องสาย ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดัดแปลงเที่ยวกลับให้มีลูกล้อลูกขัดและสำเนียงเขมร พร้องทั้งตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ประทานแตรวงของทหารบก ทหารเรือ และวงปี่พาทย์วังบางขุนพรหม บรรเลง

บทร้องเพลงเขมรใหญ่ เถา

๓ ชั้น เดินทางพระพลางคิดคำนึง ถวิลถึงบุษบามารศรี
แสนวิโยคโศกศัลย์พันทวี โศกีครวญคร่ำรำพัน
โอ้ว่าเสียดายดวงยิหวา งามเหมือนนางฟ้ากระยาหงัน
พี่รักเจ้าเท่าเทียมชีวัน หมายมั่นในองค์นงลักษณ์
๒ ชั้น จะได้น้องไปครองพารา ให้เกื้อหน้าปรากฏยศศักดิ์
จวนจะได้สู่สมภิรมย์รัก มีหมู่ปรปักษ์มาหักราญ
ลอบล้างกลางการภิเษกศรี ดังทรวงพี่จะแยกแตกฉาน
แม้นมันแกล้งริษยาสาธารณ์ ทำการอาจองทะนงใจ
ชั้นเดียว เป็นชายหรือมาหมิ่นชาย แม้พบโฉมฉายอยู่ที่ไหน
จะพันตูสู้รบจนบรรลัย ให้ลือชื่อไว้ทั้งธาตรี

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

เพลงเขมรเหลือง เถา

เพลงเขมรเหลือง เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรเหลือง อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๗ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี ๔ จังหวะ ใช้ร้องอยู่ในเพลงตับและบรรเลงออกภาษา นายมนตรี ตราโมท ได้นำเพลงนี้มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา เมื่อพ.ศ.๒๔๗๙
ได้พยายามดำเนินทำนองให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด
ต่อมา พ.ศ.๒๔๙๖ ครูเฉลิม บัวทั่ง เมื่อครั้งเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีไทยของกรมตำรวจ ได้นำเพลงเขมรเหลือง อัตรา ๒ ชั้นของเดิม มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถาอีกทางหนึ่ง คณะเสริมมิตรบรรเลงบันทึกเสียงเพลงนี้เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๑ นางบุญชู ทองเชื้อ เป็นผู้ขับร้อง

บทร้องเพลงเขมรเหลือง เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น บัดนั้น เดโชได้ฟังก็ใจหาย
ครั้งนี้แสนเจ็บแสนอาย อยากจะตายไม่อยู่ดูหน้าคน
๒ ชั้น จึงว่าดูราพระร่วงเจ้า จงเอาบุญคุณข้าสักหน
ข้านี้ถึงที่อับจน เสียกลเสียทหารชาญยุทธ
ชั้นเดียว ข้าเป็นผู้ผิดคิดร้าย มาดหมายฆ่าท่านเป็นที่สุด
ขอตายด้วยคมอาวุธ จงสั่งให้กุดหัวพลัน

บทละครรำเรื่องพระร่วง
หรือกลอนบทละครเรื่องขอมดำดิน
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น พรั่งพร้อมบรรดาเสนามาตย์ บังคมบาทจอมไผทไพศาล
สถิตอยู่ท่ามกลางบริพาร ดูดังมัฆวานเทวินทร์
๒ ชั้น พระเดชพระจอมขอมไซร้ แผ่ไปไกลรอบขอบเขตสิ้น
ญวนลานชาวไทยในแดนดิน โอนอินทรีย์นบอภิวันท์

ชั้นเดียว ขณะนั้นเหลือบเห็นนายทหาร มากราบกรานก้มหน้ากายาสั่น
มีดำรัสตรัสถามความพลัน เสนีคนขยันจงเล่ามา

บทละครรำเรื่องพระร่วง
หรือกลอนบทละครเรื่องขอมดำดิน
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

เพลงเขมรสุดใจ เถา

เพลงเขมรสุดใจ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรสุดใจอัตรา ๒ ชั้น เป็นเพลงที่มีลีลาเยือกเย็นน่าฟังเพลงหนึ่ง คณะหุ่นกระบอกมักนิยมบรรจุบทร้องของเพลงนี้ไว้ เช่น เรื่องพระอภัยมณี
ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๑ นายจันทร์ โตวิสุทธิ์ ได้นำเพลงนี้มาแต่งขยายเป็น ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา บทร้องนำมาจากบทละครเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ สำเร็จแล้วมอบให้วงดนตรีไทยสโมสรรถไฟนำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในรายการดนตรีสำหรับประชาชน ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ถ่ายทอดกระจายเสียงทางสถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๒

บทร้องเพลงเขมรสุดใจ เถา

๓ ชั้น จะเล่าความตามยากเมื่อจากน้อง ก็ขัดข้องเขาจะแจ้งแถลงไข
จึงว่าพี่นี้ก็แสนสลดใจ หมายว่าไม่พบญาติแล้วชาตินี้
๒ ชั้น หากกุศลหนหลังเราทั้งสอง ได้พบน้องนัดดามารศรี
ยังทุกข์หนึ่งถึงชนกชนนี จะร้ายดีมิได้รู้ถึงหูเลย
ชั้นเดียว พระร่ำพลางต่างองค์ทรงกันแสง โอ้เสียแรงเกิดมานิจจาเอ๋ย
ไม่เคยยากตรากตรำต้องจำเคย เมื่อไรเลยจะพร้อมวงศ์พงศ์ประยูร

บทละครรำเรื่องพระอภัยมณี
สุนทรภู่ แต่ง

เพลงเขมรเลียบพระนคร เถา

เพลงเขมรเลียบพระนคร เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรเลียบพระนคร เถา นี้ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เมื่อครั้งยังเป็นจางวางศร ศิลปบรรเลง ได้นำทำนองเพลงเขมรเขาเขียว ๒ ชั้น หน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๖ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี ๘ จังหวะ มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ ตามพระบัญชาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เพื่อบรรเลงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ ซึ่งมีเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองเอก และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหลวงลพบุรี
ราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ในครั้งนั้น
ในการบรรเลงรับเสด็จนั้น หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ได้คิดวิธีการบรรเลงแบบใหม่เป็นทางกรอ มีสำเนียงและลีลาอ่อนหวานแปลกไปจากวิธีการบรรเลงปี่พาทย์แนวเดิมที่นิยมบรรเลงเป็นทางเก็บอยู่ในยุคนั้นโดยมิได้ตั้งชื่อเพลง แล้วให้วงปี่พาทย์บรรเลงรับร้องด้วยบทร้องที่นายกระจ่าง แสงจันทร์ มหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหลวงลพบุรีราเมศวร์ ประพันธ์ถวาย พระพรหมปรีชา (กลิ่น จันทร์เรือง) เป็นผู้ขับร้อง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเล้าเจ้าอยู่หัวตรัสถามถึงชื่อเพลง หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้ใช้ปฏิภาณกราบบังคมทูลว่า ชื่อเพลง “เพลงเขมรเลียบพระนคร ๓ ชั้น” ปัจจุบันนิยมเรียกชื่อเพลงนี้ว่า
เขมรเลียบนคร ๓ ชั้น ตีความคำ “ นคร” ว่าความหมาย นครศรีธรรมราช เมืองเอกของมณฑลปักษ์ใต้ในยุคนั้น บางครั้งก็เรียกเพียงสั้นๆ ว่า เขมรเลียบ
ต่อมาหลวงประดิษฐ์ไพเราะได้ตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา

บทร้องเพลงเขมรเลียบพระนคร เถา

๓ ชั้น ข้าบาทข้าแต่นราบดี องค์พระมหาศรียุติธรรมธร
พระเดชฟุ้งผดุงด้าว ขจรข่าวบพิธอดิศร
ข้าบาทชาวราษฎร์ถวายพร ให้พระสถาวรทรงสวัสดี (เอย)

นายกระจ่าง แสงจันทร์ แต่ง

เพลงเขมรลออองค์ เถา

เพลงเขมรลออองค์ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรเอวบาง อัตรา ๒ ชั้นของเก่า เป็นเพลงที่กลายมาจากเพลงเขมรแท้เพลงหนึ่ง เพลงเขมรเอวบาง ๒ ชั้นนี้ ในชั้นแรก พวกลิเกบันตนได้นำใช้ร้องกันก่อน มีบทร้องขึ้นต้นว่า “นกเอี้ยงเต่ามา” แล้วมีคำเขมรแทรกเป็นตอนๆ ต่อมาภายจึงมีผู้ปรับปรุงทำนองให้นุ่มนวลขึ้นใช้ร้องในการแสดงละครและอื่นๆ เพลงเขมรที่ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้เป็นเพลงประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น แล้วจึงทรงตัดลงเป็นอัตราชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ต่อจากนั้นจึงทรงพระราชนิพนธ์ทางร้องขึ้นประกอบทุกๆ อัตรา บทร้องนั้นทรงใช้บทที่คัดมาจากบทละครรำเรื่องพระร่วง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ได้ทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขเพิ่มเติมบ้างบางคำ แล้วทรงตั้งชื่อเพลงขึ้นใหม่เลียนชื่อเดิมว่า “เพลงเขมรเอวบาง” มาเป็น “เพลงเขมรลออองค์” เมื่อเสด็จนิวัติพระนครจากสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.๒๔๗๓ มีพระราชดำรัสให้ข้าราชการกรมปี่พาทย์และโขนหลวงนำวงปี่พาทย์ไปเฝ้า ณ ที่นั่งอัมพรสถาน ทรงต่อเพลงนี้พระราชทานและโปรดเกล้า ฯ ให้นำกลับไปฝึกซ้อมให้เรียบร้อย เพื่อบรรเลงถวายทรงตรวจแก้ในโอกาสต่อไป
ขณะที่กำลังฝึกซ้อมอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงคิดแก้ไขทำนองเพลงเขมรลออองค์ ๓ ชั้น ท่อนต้นเปลี่ยนใหม่ประโยคหนึ่งและทรงต่อประโยคที่เปลี่ยนนั้นพระราช –ทานมาใหม่ แต่บรรดาข้าราชการที่บรรเลงอยู่ในวงปี่พาทย์ซึ่งได้รับพระราชทานต่อเพลงนั้น คิดเห็นกันว่าของเดิมที่พระราชนิพนธ์ไว้ในครั้งแรกมีชั้นเชิงดีมาก จะทิ้งก็เสียดาย เพราะฉะนั้นในขณะที่นำวงไปบรรเลงถวายตรวจสอบ จึงได้ใช้ทำนองทั้ง ๒ แบบ บรรเลงทำนองที่ทรงเปลี่ยนใหม่เป็นเที่ยวแรก และบรรเลงทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ก่อนเป็นเที่ยวหลัง และยึดถือเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องสืบต่อมาจนปัจจุบัน

บทร้องเพลงเขมรลออองค์ เถา

๓ ชั้น เมื่อนั้น ท้าวพันธุมทรงฟังแล้วนั่งนิ่ง
ไทยคนนี้มีปัญญากล้าจริงจริง จะละทิ้งช้าไว้ไม่เป็นการ
จึงมีพระราชบัญชา แด่พญาเดโชยอดทหาร
ตัวเรานี้มีบุญญาธิการ ไม่มีใครเปรียบปานแต่เดิมมา
๒ ชั้น บัดนี้พระร่วงเมืองละโว้ มีปัญญาอักโขทั้งใจกล้า
ไม่เกรงซึ่งราชอาชญา ทิ้งไว้ช้าจะทำรำคาญใจ
ชั้นเดียว จะตั้งตนขึ้นเป็นผู้วิเศษ ก่อเหตุกำเริบเติบใหญ่
แน่ะพญาเดโชชาญชัย จงรีบไปกุมจับคนสำคัญ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงแก้ไขจากบทละครรำเรื่องพระร่วง
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

เพลงเขมรราชบุรี เถา

เพลงเขมรราชบุรี เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงราชบุรี อัตรา ๒ ชั้นของเกา ประเภทหน้าทับสองไม้ ใช้เป็นเพลงบรรเลงต่อกับเพลงช้าเรื่องเขมรใหญ่ เพลงช้าเรื่องเขมรใหญ่นั้นมีวิธีเรียงลำดับเพลงอยู่ ๒ แบบ เพลงหนึ่งเมื่อจบเพลงช้าเรื่องเขมรใหญ่ (คือเขมรใหญ่ เขมรน้อย และเขมรกลาง) แล้วก็ออกเพลงครวญหา และต่อด้วยเพลงวรเชษฐ์ ( คือเพลงค้างคาวกินกล้วย เป็นคนละเพลงกับเพลงบรเทศ) อีกแบบหนึ่งเมื่อจบเพลงช้าเรื่องเขมรใหญ่ ( คือเขมรเขาเขียว เขมรขาว และเขมรแดง) แล้วก็ออกสองไม้ด้วยเพลงเขมรราชบุรี ๒ ชั้น และต่อด้วยเพลงเขมรราชบุรีชั้นเดียวเป็นเพลงเร็ว เพลงเขมรราชบุรี ๒ ชั้น ที่กล่าวมานี้มีผู้นำมาขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้นสำหรับใช้ร้องส่งในการบรรเลงปี่พาทย์ เครื่องสาย และมโหรีหลายทางด้วยกัน โดยเฉพาะทางของครูช้อย สุนทรวาทิน แต่ไม่สู้จะได้รับความนิยมแพร่หลายเท่าใด จึงสูญไป
ราว พ.ศ.๒๔๕๒ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ได้แต่งขยายเพลงเขมรราชบุรีขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น อีกทางหนึ่ง แทรกเม็ดพราย มีลูกล้อลูกขัดแปลกขึ้นกว่าที่เคยมีมา ในระหว่างที่แต่งเพลงนี้หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้มีส่วนช่วยเหลืออยู่มาก ต่อมาครูเฉลิม บัวทั่ง ปรับปรุงเฉพาะในอัตรา ๒ ชั้นและชั้นเดียว บรรเลงเป็นเพลงเถา

บทร้องเพลงเขมรราชบุรี เถา

๓ ชั้น ชะรอยกรรจำพรากต้องจากไกล จะผ่อนผันฉันใดนะอกเอ๋ย
ถ้าแม้เขามิสงสัยไม่ไปเลย จะอยู่เชยชมแก้วกัลยา
หอมกลิ่นกล้วยไม้ที่ใกล้ทาง เหมือนกลิ่นสไบนางขนิษฐา
๒ ชั้น พระเปลี่ยวเปล่าเศร้าสร้อยวิญญาณ์ เหลียวดูคูหาให้จาบัลย์
ตะลึงแลจนลับนัยน์เนตร ยิ่งอาดูรพูนเทวษโศกศัลย์
พระรีบขับอัสดรจรจรัล หมายมั่นดั้นดงตรงมา
ชั้นเดียว ครั้นถึงที่ประทับพลับพลาทอง ทหารเตรียมตั้งกองอยู่พร้อมหน้า
อันระเด่นสังคามาระตา ออกมารับเสด็จพระภูมี
อันโยธาสองเหล่าเข้าประจบ จัดกระบวนถ้วนครบอยู่ตามที่

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

เพลงเขมรภูมิประสาท เถา

เพลงเขมรภูมิประสาท เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรภูมิประสาทเป็นทางเปลี่ยนของเพลงเขมรโพธิสัตว์ อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๓ ท่อน ท่อนที่ ๑ และท่อนที่ ๒ มีท่อนละ ๔ จังหวะ ท่อนที่ ๓ มี ๙ จังหวะ
ราวพ.ศ.๒๔๙๓ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเพลงเขมรโพธิสัตว์ทั้งเถามาแต่งทางใหม่ พร้อมทั้งทำทางเดี่ยวเฉพาะท่อนที่ ๓ ของแต่ละชั้นไว้ให้บรรเลงอวฝีมือ ตั้งชื่อว่า “เพลงเขมรภูมิประสาท” ตามชื่อนายประสาท สุขุม ประธานกรรมการโรงเรียนบางบัวทอง ซึ่งชอบเพลงเขมรโพธิสัตว์มาก และเคยปรารภอยากฟังเพลงนี้ในทางอื่นบ้างกับหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนบางบัวทองอยู่ด้วย บทร้องเพลงเขมรภูมิประสาท เถาคัดมาจากบทละครเรื่องศกุนตลา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

บทร้องเพลงเขมรภูมิประสาท เถา

๓ ชั้น นี่ฤาองค์ท้าวทุษยันต์ ผู้เกียติสนั่นบันลือศักดิ์
ช่างกระไรราชาแสนน่ารัก เห็นประจักษ์เป็นยอดขัตติยา
ดูกรทุษยันต์โปรพ ท้าววาสพผู้เป็นลูกข้า
ได้บอกเรื่องราวกล่าวมา ว่าราชาไม่ช่วยราวี
๒ ชั้น ปราบกาลเนมีห้าวหาญ แรงลานแพ้ฤทธิ์ป่นปี้
ตัวกูก็พลอยยินดี เธอมีความชอบจะตอบแทน
กูมีนางงามทรามสวาท จะประสาทให้เธอไม่หวงแหน
จะหาไหนไม่สู้ในดินแดน ถึงแม้ในเมืองแมนไม่หวงแหน
ชั้นเดียว ดูกรอทิติเสน่หา จงตามแก้วกัลยาเลอสรร
เราจะยกให้ทุษยันต์ เพื่อครองกันเกษมเปรมปรีดิ์
ขอกษัตริย์โปรพภพนาถ ทรงราชเกษมสุขี
ไชยะชัยชำนะไพรี อย่ามีเหตุร้ายบีฑา

บทละครเรื่องศกุนตลา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

เพลงเขมรพายเรือ เถา

เพลงเขมรพายเรือ เถา

ประและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรอมตึ๊ก อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๔ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี ๓ จังหวะ ใช้ร้องในการแสดงโขน ละคร ครูเฉลิม บัวทั่ง ได้นำมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ทั้งทางร้องและทางดนตรี และได้นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในการบรรเลงปี่พาทย์ไม้แข็งคณะศิษย์ดุริยศัพท์ (วงของครูเฉลิม บัวทั่ง) ณ
บริเวณสังคีตศาลากรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ปรากฎว่าเป็นที่พอใจของคนฟังมากจนนายเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีคณะสุนทราภรณ์ ได้นำทำนองเพลงเขมรพายเรือ ๓ ชั้นไปบรรจุเนื้อเต็ม ขับร้องเป็นเพลงไทยสากล ตั้งชื่อว่า “เพลงพายเรือพลอดรัก” เป็นที่นิยมร้องเล่นกันมากในสมัยนั้น เพลงเขมรรอบตึ๊ก ๓ ชั้นนนและชั้นเดี่ยวที่ครูเฉลิม บัวทั่ง ได้แต่งขึ้นใหม่นี้ นายมนตรี ตราโมท ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “เพลงเขมรพายเรือ” เป็นเพลงงงสำเนียงงเขมรที่ไพเราะน่าฟังเพลงหนึ่ง

บทร้อง เพลงเขมรพายเรือ เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น โอ้เจ้าประคูณทูนหัว ข้าเจ้านึกกลัวท่านผู้ใหญ่
เจ้าประคุณลูกขอชีวิตไว้ จะบอกความจริงใจทุกสิ่งอัน
๒ ชั้น พระร่วงนั้นไซร้ได้รู้เหตุ ว่าทัพมาสู่เทศเขตขัณฑ์
เกรงกลัวบารมีนั้นมากครัน จึงพลันเอาตัวรอดพ้น
ชั้นเดี่ยว รีบลี้หนีเข้าสู่ป่า เจ้าประคุณกรุณาอย่าฉงน
ละโว้ไซร้มิได้เตรียมพล ประชาชนไม่รู้เรื่องอะไร

บทละครร้องเรื่องพระร่วง
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

บทร้องที่ ๒
๓ ชั้น พรั่งพร้อมบรรดาเสนามาตย์ บังคมบาทจอมไผทไพศาล
สถิตอยู่ท่ามกลางบริพาร ดูดังมัฆวานเทวิน
๒ ชั้น พระเดชพระจอมขอมไซร้ แผ่ไกลไปรอบขอบเขตสิ้น
ญวนลาวชาวไทยในแดนดิน โอนอินทรีย์นบอภิวันท์


ชั้นเดียว ขณะนั้นนเหลือบเห็นนายทหาร มากราบกรานนก้มหน้ากายาสั่น
มีดำรัสตรัสถามความพลัน เสนีคนขยันจงเล่ามา

บทละครรำเรื่องพระร่วง
หรือกลอนบทละครเรื่องขอมดำดิน
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

เพลงเขมรโพธิสัตว์ เถา

เพลงเขมรโพธิสัตว์ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรโพธิสัตว์ อัตรา ๒ ชั้นของเก่า หน้าทับปรบไก่ มี ๓ ท่อน ท่อนที่ ๑ และท่อนที่ ๒ มีท่อนละ ๔ จังหวะ ท่อนที่ ๓ มี ๙ จังหวะ กล่าวกันว่า นักดนตรีไทยท่านหนึ่งไม่ทรายนาม แต่งไว้เพื่อนึกถึงชาวเขมรที่อพยพจากเมืองโพธิสัตว์ในประเทศกัมพูชา (ในประเทศกัมพูชาเรียกเมืองนี้ว่า โพสัด) เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ที่จังหวัดราชบุรี จึงตั้งชื่อเพลงนี้ว่า เขมรโพธิสัตว์ ยังมีเพลงไทยสำเนียงเขมรอีกหลายเพลงที่ตั้งชื่อตามแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวเขมรเหล่านั้น เช่น เขมรราชบุรี เขมรปากท่อ เขมรเขาเขียว
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครูช้อย สุนทรวาทิน ได้นำเพลงเขมรโพธิสัตว์ ๒ ชั้น มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ใช้บทร้องจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

บทร้องเพลงเขมรโพธิสัตว์ เถา

๓ ชั้น โอ้พ่อพลายสายสวาทของพิมเอ๋ย พ่อไม่เคยห่างเหเสน่หา
มานอนหออยู่ด้วยน้องสองเวลา พ่อเคยพาพิมพูดพิไรวอน
นั่นนี่ซี้ซิกสัพยอก เย้าหยอกมิใคร่ให้ไปไกลหมอน
แขนซ้ายเคยให้เมียหนุนนอน ยามร้อนพ่อก็พัดกระพือลม
๒ ชั้น พูดพลอดกอดจูบมิใคร่นอน ช้อนคางเมียเชยและเสยผม
จนรุ่งรางสางสายไม่วายชม แสนภิรมย์รักน้องไม่นอนไกล
ไม่พลิกกายบ่ายหน้าออกไปจาก จะออกปากว่าเหนื่อยนิดหามีไม่
แนบนางข้างเดียวด้วยเจือใจ พ่อไปใครจะกอดให้พิมนอน
ชั้นเดียว จะกินข้าวนั่งเคล้าอยู่คอยท่า ให้พิมมานั่งกินด้วยกันก่อน
ครั้นเมียไม่กินพร้อมพ่อยอมวอน ปั้นป้อนปลอบปลื้มประโลมใจ
เห็นเขาเป็นผัวเมียกันมาหนัก จะรักเหมือนพ่อรักพิมหามีไม่
พ่อต้องมาเด็ดรักหักไป ทำไมจะได้ของรักไปเชยชม

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

เพลงเขมรพวง เถา

เพลงเขมรพวง เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรพวง อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน มี ๔ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี ๖ จังหวะ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงปรับเพลงร้องสำหรับประกอบ “การแสดงภาพนิ่ง” (Tableau Vivant) ขึ้นถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราช -กุมาร มีอยู่ ๘ เรื่อง แต่เฉพาะในเรื่องขอมดำดินทรงบรรจุทำนองเขมรพวงให้ร้องในบทของพระประทุม (ท้าวพันธุม) พระนิพนธ์นั้ขึ้นต้นว่า “เมื่อนั้นพระประทุมสุริยวงศ์ทรงขรรค์” เนื้อร้องและทางดนตรีในชุดน้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนแม้แต่ผู้ที่มิใช่นักร้องนักดนตรีก็จำเอาไปร้องกัน ด้วยความที่จำแต่เนื้อร้องจึงทำให้ผู้ที่ไม่รู้จักชื่อเพลงที่แท้จริงเรียกเพลงเขมรพวงไปตามบทร้องว่า “ เขมพระปทุม”
ประมาณ พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๖๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงนิพนธ์ขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น โปรดให้จางวางทั่ว พาทยโกศล แต่งชั้นเดียวต่อจนครบเป็นเพลงเถา ทรงเขียนเป็นโน้ตสากลประทานให้กองดุริยางค์ทหารเรือบรรเลงโดยวงโยธวาทิต มีทั้งทางร้องและทางดนตรีทั้งเที่ยวต้นและเที่ยวกลับอย่างละ ๒ เที่ยวไม่เหมือนกัน จึงต้องร้องทั้งเถายาวถึง ๑๒ ท่อน ใช้เวลาบรรเลงนานมาก
บทร้องโปรดให้นางเจริญ พาทยโกศล ตัดตอนมาจากบทเสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างแล้วชมม่านฝีมือวันทอง ทางร้องทรงพระกรุณาต่อประทานคุณหญิงไพฑูรย์- กิตติวรรณ ด้วยพระองค์เอง
ราวพ.ศ.๒๔๖๐ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเพลงเขมรพวงมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น ให้มีสำนวนทำนองเป็นทางกรอสำเนียงเขมร แบบเดียวกับเขมรเลียบพระนคร และเรียกชื่อตามของเดิมว่า “เพลงเขมรพวง” แม้เพลงนี้จะแต่งภายหลังเพลงเขมรเลียบพระนครแต่ก็เป็นเพลงทางกรอที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายที่สุด ยิ่งกว่าเพลงใดๆ ในบรรดาเพลงทางกรอของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และถือเป็นแบบฉบับของเพลงประเภททางกรอ
เมื่อราว พ.ศ.๒๔๖๔ สมัยที่นิยมร้องเพลงเถากันโดยทั่วๆ ไป หมื่นประคม เพลงประสาน (ใจ นิตยผลิน) ได้คิดตัดแต่งจากอัตรา ๒ ชั้นของเดิมลงเป็นอัตราชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา โดยทางร้องชั้นเดียวนั้น นายเหมือน ดูรยประกิต เป็นผู้คิดขึ้น




บทร้องเพลงเขมรพวง เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น เจ้าปักเป็นป่าพนาเวศ ขอบเขตเขาคลุ้ม (พนมเอย) ชอุ่มเขียว
รุกขชาติดาดใบระบัดเรียว พริ้งเพรียวดอกดกระดะดวง
ปักเป็นมยุราลงรำร่อน ฝ่ายฟ้อนอยู่บนยอด (กุโงกเอย) ภูเขาหลวง
แผ่หางกางปีกเป็นพุ่มพวง ชะนีหน่วงเหนี่ยวไม้ชม้อยตา
๒ ชั้น ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
วินันตกหัศกันเป็นหลั่นมา การวิกอิสินธรยุคุนธร
อากาศคงคาชลาสินธุ์ มุจลินทร์ห้าแถวแนวสลอน
ไกรลาสสะอาดเอี่ยมอรชร ฝูงกินนรคนธรรพ์วิทยา
ชั้นเดียว ลงเล่นน้ำดำดั้นอโนดาต ใสสะอาดเยือกเย็นเห็นขอบผา
หมู่มังกรล่อแก้วแพรวพรายตา ทัศนารำลึกถึงวันทอง
ห้ำหั่นฟันม่านผลาสับ ระยำยับย่างเข้าไปชั้นสอง
น่ารักปักเอี่ยมลออออง น้องเอ๋ยช่างฉลาดล้ำมนุษย์

เสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน

บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น เจ้างามปลอดยอดรักของพลายแก้ว ได้มาแล้วแม่อย่าขับให้กลีบหนี
พี่สู้ตายไม่เสียดายแก่ชีวี แก้วพี่อย่าได้พร่ำรำพันความ
๒ ชั้น พี่ผิดพี่ก็มาลุแก่โทษ จงคลายโกรธแม่อย่าถือว่าหยาบหยาม
พี่ชมโฉมโลมลูบด้วยใจงาม ทรามสวาทดิ้นไปไม่ใยดี
ชั้นเดียว รอยเล็บแม่จึงเจ็บด้วยหยิกต้อง ขัดข้องเพราะเจ้าปัดสลัดพี่
ค้อนควักผลักพลิกแล้วหยิกตี ถ้อยทีถูกข่วนแต่ล้วนเล็บ

เสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน

เพลงเขมรปากท่อ เถา

เพลงเขมรปากท่อ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรปากท่อ อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว ๔ จังหวะ คงจะแต่งขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ชาวเขมรที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อำเ๓อปากท่อ จังหวัดราชบุรี จึงตั้งชื่อเพลงเขมรปากท่อ สำนวนทำนองเพลงแสดงว่าเป็นเพลงในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีครูดนตรีนำเพลงเขมรปากท่อ ๒ ชั้น มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถาหลายทางด้วยกัน เช่น ทางของพระยาดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ทางของจางวางทั่ว พาทยโกศล อละทางของพระประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่ได้แต่งเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑

บทร้องเพลงเขมรปากท่อ เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น บัดนี้ดะหมังเสนา ถือสารพระบิดามาให้
เหตุด้วยดาหาเวียงชัย เกิดการศึกใหญ่ไพรี
๒ ชั้น ให้พี่กรีธาทัพขันธ์ ไปช่วยป้องกันกรุงศรี
จะรีบยกพหลมนตรี พรุ่งนี้ให้ทันพระบัญชา
ชั้นเดียว อยู่จงดีเถิดพี่จะลาน้อง อย่าหม่นหมองเศร้าสร้อยละห้อยหา
เสร็จศึกวันใดจะไคลคลา กลับมาสู่สมภิรมย์รัก

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพรธ์ในรัชกาลที่ ๒

บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น บัดนั้น นักคุ้มบังคมก้มเกศา
ความเกรงพระราชอาชญา เจราเสียงสั่นพรั่นใจ
๒ ชั้น โปรดใช้ให้ข้าเป็นข้าหลวง ไปทวงส่วยละโว้กรุงใหญ่
ข้ากลับเสียทีพ่อเมืองไทย ชะลอมตักน้ำไว้ด้วยง่ายดาย



ชั้นเดียว ข้านำชะลอมของประหลาด มายังฝ่าพระบาทเพื่อถวาย
คนไทยจะดีเพราะมีนาย เป็นยอดชายชาญฉลาดสามารถจริง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงแก้ไขจากบทละครรำเรื่องพระร่วง
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

เพลงเขมรน้อย เถา

เพลงเขมรน้อย เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรน้อย อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๓ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๗๓ ครูปน นิลวงศ์ ครูดนตรีชาวอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นผู้แต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา นายเลิด นิลวงศ์ ผู้เป็นหลานของครูปน นิลวงศ์ ได้กล่าวว่า เพลงเขมรน้อย เถา เป็นยอดของเพลงที่ครูปน นิลวงศ์ เป็นผูแต่ง มีความประสงค์ที่จะแสดงฝีมือดนตรีของชาวอัมพวา

บทร้องเพลงเขมรน้อย เถา

๓ ชั้น ประทานโปรดด้วยเถิดเจ้าขา ข้ามาหาพระร่วงผู้เป็นไทย
ตูข้านี้เป็นคนไทย มาไกลจากละโว้ธานี
ทราบว่าพ่อเมืองของข้าเจ้า เข้ามาผนวชอยู่ที่นี่
๒ ชั้น ตูข้าจงรักภักดี หวังที่จะกราบพระบาทา
แม้ว่าพระร่วงเธอปราณี บางทีจะรับไว้เป็นข้า
ขอท่านจงได้เมตตา จงโปรดช่วยพาเข้าไป
ชั้นเดียว เอ๊ะชายนี้นาน่าหลากจิต ยิ่งคิดยิ่งน่าสงสาร
บุรุษนี้อ้างตนว่าคนไทย แต่ไฉนพูดแกว่งแปร่งทำนอง
ชะรอยขอมจะปลอมแปลงมา ท่วงทีมีท่าออกจองหอง

บทละครเรื่องพระร่วง
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

เพลงเขมรไทรโยค

เพลงเขมรไทรโยค เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอาศัยเค้าโครงจากเพลงเขมรกล่อมลูก ชั้นเดียวของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ แต่งเป็นเพลงเขมรไทรโยค อัตรา ๒ ชั้น ส่วนบทร้องทรงแต่งจากความทรงจำตั้งแต่โดยเสด็จพระราชดำเนินประพาสตำบลไทรโยคครั้งแรกมาเป็นแนวพระนิพนธ์ และนำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๑ เนื่องจากลีลาท่วงทำนองของเพลงเขมรไทรโยค เหมาะที่จะเป็นเพลง ๓ ชั้น ปรมาจารย์ทางดนตรีไทยจึงให้ตีหน้าทับปรบไก่ ๓ ชั้นโดยอนุโลม
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีบทร้องเพลงเขมรไทรโยคขึ้นอีกบทหนึ่ง นอกเหนือจากบทร้องที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทรงนิพนธ์ บทร้องใหม่นี้ ต่อมา นายจอน สุนทรเกศ นักร้องจากกรมทหารมหาดเล็กที่ ๓ ได้ร้องบันทึกแผ่นเสียงไว้เป็นครั้งแรก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการนำเพลงเขมรไทรโยคมาใช้ประกอบกับละครอย่างน้อย ๓ เรื่อง คือ เรื่องพระยศเกศ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย บทพระราชนิพนธ์เรื่องพระร่วงและเรื่องวั่งตี่ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ.๒๔๙๑ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเพลงเขมรไทรโยคมาแต่งขยายขึ้นอีกเท่าหนึ่ง และตัดลงเป็นชั้นเดียว ให้ชื่อว่า เพลงเขมรไทรโยค เถา ส่วนบทร้องนางจันทนา พิจิตรคุรุการ แต่ง และหลวงประดิษฐ์ไพเราะได้ร้องบันทึกเสียงด้วยตนเองในอัตราชั้นเดียว
อนึ่ง บทร้องเพลงเขมรไทรโยค ชั้นเดียว ที่หลวงประดิษฐ์ไพเราะร้องบันทึกเสียงนั้น ตรงกับที่นายจอน สุนทรเกศ ขับร้องไว้ ผิดกันเพียง ๒ - ๓ คำเท่านั้น
เพลงเขมรไทรโยค เถา มีความไพเราะเรียบง่าย เหมาะกับเครื่องดนตรีทุกประเภทและสามารถบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีประเภทใดก็ได้ ดังจะเห็นได้จากงานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีเพลงเขมรไทรโยค เถา จัดขึ้น ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ ๒๕๓๑ ซึ่งได้ดัดแปลงบรรเลงเพลงนี้ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งทำเป็นจังหวะบินอละแทงโกสำหรับลีลาศ และยังสามารถทำทางบรรเลงสำหรับดนตรีสากลได้อีกด้วย




บทร้องเพลงเขมรไทรโยค เถา
บทร้องที่ ๑ (เถาใหญ่)

๔ ชั้น บรรยายความ ตามไท้ เสด็จยาตร (หนาน้องเอย)
ยังไทรโยค ประพาส พนาสณฑ์ (เจ้าก็ ไม่เคยเห็น)
ไม้ไล่ หลายพันธุ์คละ ขึ้นปะปน (หนาน้องเอย)
ที่ชายชล เขาชะโงก เป็นโตรกธาร
น้ำพุพุ่งซ่า ไหลฉ่าฉาดฉาน
เห็นตระการ มันไหลจ้อกโครม จ้อกโครม
มันดัง จ้อก จ้อก จ้อก จ้อก โครมโครม

๓ ชั้น น้ำใส ไหลจนดู หมู่มัสยา
กี่เหล่าหลายว่ายมา ก็เห็นโฉม (น้องเอ๋ย เจ้าไม่เคยเห็น)
ยินปักษา ซ้องเสียง เพียงประโคม
เมื่อยามเย็น พยับโพยม ร้องเรียกรัง
เสียงนกยูงทอง มันร้องโงดัง
หูเราฟัง มันร้องกะโต้งโห่ง
มันดัง กอก กอก กอก กอก กะโต้งโห่ง

พระนิพนธ์ใน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวงศ์

๒ ชั้น เสด็จไพรไทรโยค ยลประพาส
ระดาดาด รุกขา พนาศรี (น้องเอย ไม่เคยเห็น)
เขาชะงุ้ม โงกเงื้อม เหลื่อมคีรี
อยู่ริมที่ ช่องธาร ลานศิลา
น้ำพุพุ่งโพน ไหลโจนแผ่นผา
เห็นเหมาะตา มันไหลมาคั่กคั่ก คั่กคั่กกระเซ็น

นางจันทนา พิจิตรคุรุ แต่ง




ชั้นเดียว พระดำเนิน เพลินพิศ ภูผาสูง
ยางยูง เถาวัลย์หวาย หลายหลากเห็น
อวลตลบ งามเด่น ละม้ายแม้น แดนสวรรค์

ไม่ทราบนามผู้แต่ง

บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น บรรยายความ ตามไท้ เสด็จยาตร (หนาน้องเอย)
ยังไทรโยค ประพาส พนาสณฑ์ (เจ้าก็ ไม่เคยเห็น)
ไม้ไล่ หลายพันธุ์คละ ขึ้นปะปน (หนาน้องเอย)
ที่ชายชล เขาชะโงก เป็นโตรกธาร
น้ำพุพุ่งซ่า ไหลฉ่าฉาดฉาน
เห็นตระการ มันไหลจ้อกโครม จ้อกโครม
มันดัง จ้อก จ้อก จ้อก จ้อก โครมโครม

๒ ชั้น น้ำใส ไหลจนดู หมู่มัสยา
กี่เหล่าหลายว่ายมา ก็เห็นโฉม (น้องเอ๋ย เจ้าไม่เคยเห็น)
ยินปักษา ซ้องเสียง เพียงประโคม
เมื่อยามเย็น พยับโพยม ร้องเรียกรัง
เสียงนกยูงทอง มันร้องโงดัง
หูเราฟัง มันร้องกะโต้งโห่ง
มันดัง กอก กอก กอก กอก กะโต้งโห่ง

พระนิพนธ์ใน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวงศ์






ชั้นเดียว เสด็จไพรไทรโยค ยลประพาส
ระดาดาด รุกขา พนาศรี (น้องเอย ไม่เคยเห็น)
เขาชะงุ้ม โงกเงื้อม เหลื่อมคีรี
อยู่ริมที่ ช่องธาร ลานศิลา
น้ำพุพุ่งโพน ไหลโจนแผ่นผา
เห็นเหมาะตา มันไหลมาคั่กคั่ก คั่กคั่กกระเซ็น

นางจันทนา พิจิตรคุรุ แต่ง

เพลงเขมรชมดง เถา

เพลงเขมรชมดง เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรชมดง อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับเขมร มี ๔ ท่อน ท่อนละ ๒ จังหวะ ท นายมนตรี ตราโมท นำมาตัดลงเป็นชั้นเดียว สำหรับใช้บรรเลงประกอบการรำโบราณคดีชุดระบำลพบุรี
ประมาณ พ.ศ.๒๕๑๖ นายบุญยงค์ เกตุคง จึงนำทำนอง ๒ ชั้นของเก่า มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น แล้วรวมเข้ากับอัตราชั้นเดียวของนายมนตรี ตราโมท เพื่อให้ครบเป็นเพลงเถา และได้แต่งท้ายเพลงสำเนียงเขมรเป็นลูกหมดไว้ด้วย

บทร้องเพลงเขมรชมดง เถา

๓ ชั้น เมื่อนั้น พระร่วงฟังคำไขขาน จึงมีมธุรสพจมาน ที่อัญเชิญให้ผ่านธานี
เรานี้มีปัญญาย่อหย่อน ยังอ่อนความคิดไม่เต็มที่
ใช่ว่าจะคิดหลีกลี้ ท่านนิยมยินดีพร้อมเพรียง
๒ ชั้น เราขัดคำวอนท่านมิได้ ไม่มีแก่ใจจะโต้เถียง
เราขอปฏิญาณไม่เอนเอียง จะตั้งจิตให้เที่ยงในทางธรรม์
เราจะบำรุงกรุงไกร ให้ทวยไทยอิสระเกษมสันต์
ขอองค์ไตรรัตน์คุณอนันต์ ทั้งเทวัญเป็นพยานวาจา
ชั้นเดียว จึงขึ้นรถทองผ่องโอภาส แลวิลาสดังเทพเลขา
ตั้งขบวนพยุหยาตรา บ่ายหน้าเข้ายังวังใน

บทละครรำเรื่องพระร่วง
หรือกลอนบทละครเรื่องขอมดำดิน
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

เพลงเขมรชนบท เถา

เพลงเขมรชนบท เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมนเป่าใบไม้ อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ นายทรัพย์ นุตสถิตย์ ได้แต่งขยายขึ้นเป็น ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ตั้งชื่อใหม่ว่า “เขมรชนบท เถา”
ต่อมา พันโท หลวงสราวุธวิชัย (สราวุธ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา) กับครูเจือ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ได้ร่วมกันแก้ไขทำนองเพลงเขมรชนบทของนายทรัพย์ นุตสถิตย์ ให้มีความสละสลวยมากขึ้น

บทร้องเพลงเขมรชนบทเถา

๓ ชั้น ในสารานั้นว่าท่านขุนขอม พาพวกพร้อมชีวาม้วยอาสัญ
มากลับกลายเป็นศิลาน่าอัศจรรย์ ดังหนึ่งปั้นปักดินสิ้นทุกนาย
๒ ชั้น ข้าพระบาทสืบดูจึงรู้ชัด คิดคัดเค้ามูลทูลถวาย
แม้นมิจริงดังสิ่งข้าบรรยาย ขอถวายชิวาตม์ใต้บาทบงสุ์
ชั้นเดียว พอเสร็จสาราพักตราเศร้า อุระเร่าร้อนตรึงตะลึงหลง
เสโทไหลซาบลงอาบองค์ สุดจะทรงชลนาให้อาดูร

ไม่ทราบนามผู้แต่ง

เพลงเขมรเขียว เถา

เพลงเขมรเขียว เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรเขาเขียว อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๖ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี ๘ จังหวะ
จงวางทั่ว พาทยโกศล ได้นำมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ชั้น ดำเนินทำนองเป็นทางพื้นแตกต่างจากเพลงเขมรเลียบนคร ซึ่งพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยกูร หรือครูมีแขก) เป็นผู้แต่ง ดำเนินทำนองเป็นทางกรอ
ต่อมา ศิษย์จางวางทั่ว พาทยโกศล ได้นำมาตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ให้ชื่อใหม่ว่า “เพลงเขมรเขียว เถา”

บทร้องเพลงเขมรเขียว เถา

๓ ชั้น ต้องจากทิพยสถานพิมานเมศ มาสู่เขตเขาเขินเนินสิงขร
(สร้อย) ผะโอนเนยยูจะบำดัดเดียวมอเน้อนี้
นิจจาเอ๋ยเอกาอนาทร
(สร้อย) ผะโอนเนยยูจะบำดัดเดียวมอเน้อนี้
ไม่มีเพื่อนอัปสรสาวสุรางค์
๒ ชั้น ถ้าอยู่ด้วยจะได้เห็นกันเป็นสอง ควรหรือนิ่มน้องมาหมองหมาง
(สร้อย) จะมาจ๊ะ
จะขอถามสักคำอย่าอำพราง
(สร้อย) จะมาจ๊ะ
ซึ่งโทษนางทำผิดติดพัน
ชั้นเดียว พระอิศวรสาปไว้อย่างไรเล่า นงเยาว์จะได้ไปสวรรค์
จะแจ้งความตามจริงทุกสิ่งอัน จะได้ช่วยแก้กันให้พ้นภัย

บทละครเรื่องรามเกียรติ์
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑

เพลงเขนง เถา

เพลงเขนง เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขนง อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า มีมาแต่สมัยอยุธยา ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี่ ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ รวมอยู่ในตับเพลงมโหรีเรื่องเขนง ซึ่งมี ๒ แบบ คือ

แบบที่ ๑ มีเพลง ๖ เพลง คือ
๑. เขนง ๔. โตเล่นแก้ว
๒. ซัดน้ำ ๕. หนุ่มน้อย
๓. ซัดกระแจะ ๖. ระวังระไว

แบบที่ ๒ มีเพลง ๔ เพลง คือ
๑. เขนง ๓. ขอมแปลง
๒. กระทงเขียว ๔. มอญเล็ก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรวบรวมบทร้องมโหรีแต่สมัยอยุธยา บทร้องเพลงเขนงของเดิมมีว่า

แสนเอยแสนงอน ดุจเขนงกาสรที่งอนโง้ง
ที่ไม่ทุจริตคิดโกง จะชักโยงให้สุจริตเอย

พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ได้แต่งขยายเป็นอัตรา ๓ ชั้นไว้ทางหนึ่ง ต่อมาหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้นอีกทางหนึ่ง และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา เมื่อพ.ศ.๒๔๙๑

บทร้องเพลงเขนง เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น หน้าร้อน เราเคยสุขสโมสรเกษมสันต์
ประหลาดแท้แปรไปเป็นเหมันต์ ให้หนาวครั่นสั่นสะทกหัวอกเรา
๒ ชั้น โอ้หงส์ทองล่องฟ้าเที่ยวหาคู่ น่าอดสูเสียวงศ์หลงกาเหว่า
พาโผผินบินพรากจากลำเนา ไปจับเจ่าจิกขนอยู่หนใด
ชั้นเดียว ละพี่นางเหมราของข้าเจ้า ให้หงอยเหงาทุกข์ทนหม่อนไหม้
ดอกไม้ช่อขอถวายเทพไท ช่วยดลใจหงส์ทองอย่าล่องเลย

บทละครเรื่องเงาะป่า
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕

บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น อันความรักก็ประจักษ์แก่ใจเจ้า แต่นงเยาว์ไม่เมตตาจึงว่าขาน
ชะล่าใจเพราะได้เห็นเหตุบันดาล ให้เจ้าพานพบเคราะห์เฉพาะเป็น
๒ ชั้น ชะรอยฤทธิ์นางไม้ไพรพฤกษา แปลงเป็นงูจู่มามิให้เห็น
ไม่ทำร้ายหมายพิฆาตมาดลำเค็ญ จะชี้เช่นพอให้รู้ว่าคู่นาง
ชั้นเดียว เพราะฉะนี้พี่จึงกล้าว่าเต็มปาก จะขอฝากรักน้องอย่าหมองหมาง
เจ้าจงใคร่ควรคิดอย่าจิตจาง พี่ขอวางชีพไว้ในกัลยา

บทละครเรื่องเงาะป่า
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕

เพลงขอมใหญ่ เถา

เพลงขอมใหญ่ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงขอมใหญ่ อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ เป็นเพลงที่มีสำเนียงไพเราะอ่อนหวานมากเพลงหนึ่ง ใช้ร้องในการแสดงโขนละครมาตั้งแต่สมัย
รัตนโกสินทร์ตอนต้น
หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) นำเพลงขอมใหญ่ อัตรา ๒ ชั้น มาแต่งขยายข้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา เมื่อราวพ.ศ. ๒๔๗๔
ประมาณพ.ศ.๒๔๙๖ ครูเฉลิม บัวทั่ง ได้แต่งเพลงนี้ในอัตรา ๓ ชั้นขึ้นอีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ทั้งทางร้องและทางดนตรี ให้คณะเสริมมิตรบรรเลงบันทึกเสียงเพลงนี้ออกอากาศทางสถานีวิทยุด้วย
นอกจากนี้ ครูเฉลิม บัวทั่ง ยังขอให้นายพูนพิศ อมาตยกุล เขียนบทร้องให้ใหม่อีกบทหนึ่งให้มีความหมายแสดงความยิ่งใหญ่ของขอม นายพูนพิศ อมาตยกุล ได้แต่งบทดัดแปลงจากบทละครเรื่องขุนผาเมืองของนายสมภพ จันทรประภา และมอบให้นางสุพัฒน์ บัวทั่ง ขับร้องในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ที่สวนอัมพร เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๐

บทร้องเพลงขอมใหญ่ เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น พวกขอมพร้อมพรั่งกำลังพล เริงรณศัสตรากล้าแข็ง
ควรเราจะคิดซ่อมกำแพง ตกแต่งคูค่ายทั้งหลายไว้
๒ ชั้น เผื่อว่าพวกขอมยกมา จะได้ยึดพารามั่นได้
แล้วรีบส่งม้าเร็วไป ยังกรุงสุโขทัยธานี
ชั้นเดียว เมื่อสุโขทัยรู้ว่าขอม มาล้อมละโว้บุรีศรี
บางทีจะส่งโยธี มาช่วยราวีศัตรูเรา

บทละครร้องเรื่องพระร่วง
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖



บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น ครั้นถึงห้องสุวรรณบรรจง นั่งแนบแอบองค์นางโฉมศรี
ทอดถอนฤทัยพลางทางพาที ภูมีแจ้งความแก่ทรามวัย
๒ ชั้น บัดนี้ดะหมังเสนา ถือสารพระบิดามาให้
เป็นเหตุด้วยดาหาเวียงชัย เกิดการศึกใหญ่ไพรี
ชั้นเดียว ให้พี่กรีธาทัพขันธ์ ไปช่วยป้องกันกรุงศรี
จะรีบยกพหลดนตรี พรุ่งนี้ให้ทันพระบัญชา

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

บทร้องที่ ๓

๓ ชั้น เดินพลางทางชมมิ่งไม้ ระบัดใบออกรับฤดูฝน
เขียวชอุ่มบังแสงสุริยน ทรงผลสุกห่ามงามงอม
๒ ชั้น สร้อยฟ้ามหาหงส์ส่งกลิ่นเกลี้ยง รังเรียงลำดวนหวนหอม
สายหยุดระย้าค่าค่อม เหนี่ยวน้อมกลิ่นกลบตลบไป
ชั้นเดียว ชมทางพลางคะนึงถึงเชษฐา ป่านฉะนี้พี่ยาอยู่ไหน
ยิ่งวิโยคโศกเศร้าสลดใจ ให้เร่งรีบพลไกรจรลี

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

บทร้องที่ ๔

๓ ชั้น อินทรวรมันจอมกษัตริย์ ตรัสสั่งโขลญลำพงเรืองศรี
จงไปคุมสุโขทัยธานี หาที่สร้างปราสาทดาดศิลา
๒ ชั้น ไพร่พลคนไทยเร่งใช้งาน เทพสถานทำไว้ให้โอ่อ่า
สมชื่อขอมจอมรัฐขัตติยา เสริมบุญญาบารมีข้านี้ไว้
ชั้นเดียว อย่าประมาทคนไทยมิใช่ย่อย ถึงแรงน้อยใจแกร่งแข็งข้อได้
ขุนผาเมืองนางเสืองขุนบางไซร้ อย่าไว้ใจจงระวังจะพรั้งเอย

นายพูนพิศ อมาตยกุล แต่ง

เพลงขอมระทม เถา

เพลงขอมระทม เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงสุริโยทัย อัตรา ๒ ชั้น ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) นายจันทร์ โตวิสุทธิ์ ไดนำมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลง เถา แต่ได้เปลี่ยนทำนองเพลงเป็นเพลงเขมร สำเร็จเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๕ แล้วให้ชื่อตามสำนวนเพลงว่า
“เพลงระทม เถา” มอบให้วงดนตรีไทยสโมสรรถไฟบรรเลงครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๖ สำหรับบทร้องเอามาจากเพลงตับเรื่องพระร่วง

บทร้องเพลงขอมระทม เถา

๓ ชั้น เมื่อนั้น พระปทุมสุริย์วงศ์ทรงขันธ์
เนาในปราสาทรัตนสุวรรณ ทรงธรรม์รำพึงคะนึงคิด
๒ ชั้น นายร่วงคงจะเชี่ยวชาญชัย ชะลอมใส่คงคาไม่น่าติด
ช่องชะลอมก็ใหญ่ไม่แนบชิด ทรงฤทธิ์ตรึกไตรไปมา
ชั้นเดียว อาจองลำพองแผลงฤทธิ์ จึงคิดทำการหาญกล้า
พินิจดูไพร่นายในพารา แก้ฤทธาเขาได้เห็นไม่มี

เพลงตับเรื่องพระร่วง

เพลงขอมโบราณ เถา

เพลงขอมโบราณ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงขอมโบราณ เถา เป็นเพลงหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ นายจิต เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้แต่งขึ้นทั้ง ๓ ชั้น ๒ ชั้น และชั้นเดียว เมื่อประมาณพ.ศ.๒๔๘๕ ทำนองเป็นสำเนียงเขมร บทร้องชั้นเดียวได้มาจากบทร้องเพลงเขมรเป่าใบไม้ ในตับของดำดิน พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ส่วนบทร้อง ๒ ชั้ และ ๓ ชั้นนั้นไม่ทราบนามผู้แต่ง

บทร้องเพลงขอมโบราณ เถา

๓ ชั้น บัดนี้เกิดคนดีมีฤทธิ์เลิศ ประกอบเกิดกับเมืองเรืองมหันต์
นามนายร่วงฤทธาศักดาครัน ตำแหน่งนั้นสุโขทัยชัยชาญ
๒ ชั้น สานชะลอมใส่น้ำนำมาให้ ไม่รั่วไหลฝังแน่นเป็นแก่นสาร
ตั้งแต่นี้กัมพุชจะทรุดซาน กรรมบันดาลเกิดเข็ญให้เป็นไป

ไม่ทราบนามผู้แต่ง

ชั้นเดียว พญาเดโชวิชาชาญชัย ฟังตรัสขัดใจก็ทูลสนอง
ว่าข้าขอรับจับตัวนายกอง ส่วยน้ำฉลองพระเดชพระคุณ

“ตับขอมดำดิน” พระนิพนธ์ใน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

เพลงขอมทอง เถา

เพลงขอมทอง เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรเหลือง อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับสองไม้ มี ๗ ท่อน ท่อนที่ ๑ กับ ท่อนที่ ๒ มีผู้นำไปร้องประกอบการแสดงและออกภาษา
ราวพ.ศ.๒๔๖๘ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเพลงเขมรเหลือมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น เมื่อแต่งจบแต่ละท่อนก็ต่อให้ลูกศิษย์ทันที ขณะที่แต่ง นายมนตรี ตราโมท อยู่ที่นั้นด้วย เมื่อหลวงประดิษฐ์ไพเราะพัก ได้ให้นายมนตรี ตราโมท ช่วยแต่งต่อเป็นบางท่อนสลับกันไปจนจบเพลง ในการแต่งได้รวมท่อน ๑ และท่อน ๒ เป็นท่อนที่ ๑ และ ท่อน ๓ ถึงท่อน ๗ เป็นท่อนที่ ๒ แล้วให้ชื่อใหม่ว่า “เพลงขอมทอง” เพลงนี้แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญและปฏิภาณอันหลักแหลมของทั้ง ๒ ท่าน
ภายหลังหลวงประดิษฐ์ไพเราะจึงได้ตัดแต่งเพลงขอมทองลงเป็นอัตราชั้นเดียวบรรเลงรวมกับอัตรา ๒ ชั้นของเก่า ครบเป็นเพลงเถา

บทร้องเพลงขอมทอง เถา

๓ ชั้น พวกขอมพร้อมพรั่งกำลังพล เริงรณศัสตรากล้าแข็ง
ควรเราจะคิดซ่อมกำแพง ตกแต่งคูค่ายทั้งหลายไว้
เผื่อว่าพวกขอมยกมา จะได้ยึดพารามั่นได้
แล้วรีบส่งม้าเร็วไป ยังกรุงสุโขทัยธานี
เมื่อสุโขทัยรู้ว่าขอม มาล้อมละโว้บุรีศรี
บางทีจะส่งโยธี มาช่วยราวีศัตรูเรา
๒ ชั้น เพราะถ้าละโว้เสียเมือง ก็อาจระคายเคืองไปถึงเขา
ของอาจจู่โจมโรมรันเอา ผู้คนของเขาพลอยเดือดร้อน
ตูข้านี้เห็นชอบด้วย ต้องช่วยกันแต่งเมืองมั่นก่อน
ถ้าไม่ศัตรูยกจู่จร มาถึงนครจะเสียที
ตูข้าขอลาไปรีบแต่ง คูค่ายกำแพงบุรีศรี
จะจัดแจงแบ่งปันหน้าที่ ควบคุมชาวบุรีไปทำงาน




ชั้นเดียว ดูเอาเถิดชาวไทยใจหาญฮึก นึกนึกก็แสนจะสงสาร
จะต่อสู้ทัพขอมชัยชาญ จะทนทานได้เพียงสักเท่าใด
พวกเรามีแต่หยิบมือ ฤาว่าจะทานกำลังได้
ละโว้จะมีเหตุเภทภัย ก็เพราะตัวกูไซร้ทะนง

บทละครรำเรื่องพระร่วง
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

เพลงขอมทรงเครื่อง เถา

เพลงขอมทรงเครื่อง เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงขอมทรงเครื่อง อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว ๕ จังหวะ เมื่อพ.ศ.๒๔๗๔ นายมนตรี ตราโมท ได้นำเพลงนี้มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น ใช้สำนวนการดำเนินทำนองเขมรซึ่งได้เคยแต่งไว้ในเพลงเขมรเอวบาง ๓ ชั้นมาดัดแปลงแก้ไขใช้ในเพลงขอมทรงเครื่อง อัตรา ๓ ชั้น เกือบตลอดเพลง และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา แล้วมอบให้วงมโหรีหลวงขับร้องและบรรเลงออกอากาศทางสถานีวิทยุ
นอกจากได้นำสำนวนการเดินทำนองสำเนียงเขมรจากเพลงเขมรอวบางมาใช้ในเพลงขอมทรงเครื่อง อัตรา ๓ ชั้นแล้ว นายมนตรี ตราโมท ยังได้นำทำนองลูกหมดเพลงหนึ่ง ซึ่งหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศณ ศิลปบรรเลง) ได้แต่งไว้มาใช้เป็นลูกหมดประจำเพลงขอมทรงเครื่อง เถา ด้วย

บทร้องเพลงขอมทรงเครื่อง เถา

๓ ชั้น คิดแล้วจึงสั่งนักคุ้ม เจ้าจงอยู่ควบคุมทัพใหญ่
ตัวกูจะปลอมแปลงไป กระทั่งสุโขทัยธานินทร์
จะแต่งให้เหมือนคนไทย เล็ดลอดดอดไปสมถวิล
ลี้ลับเหมือนกับกูดำดิน คงจะได้เสร็จสิ้นดังจินดา
๒ ชั้น แล้วจึงจัดแจงแต่งกาย ให้ละม้ายแม้นไทยเช่นว่า
เลือกสรรอาวุธศัสตรา ซ่อนให้กายาเรียบร้อย
ชั้นเดียว มุ่มเกล้าเมาลีวิธีใหม่ เหมือนอย่างแบบไทยใช้สอย
จึงรีบเลี้ยวลดสะกดลอย ไต่ต้อยติดตามพระร่วงไป

บทละครรำเรื่องพระร่วง
หรือกลอนบทละครเรื่องขอมดำดิน
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

เพลงขอมกล่อมลูก เถา

เพลงขอมกล่อมลูก เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงขอมกล่อมลูก อัตรา ๒ ชั้น ประเภทหน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว ๖ จังหวะ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองเยือกเย็นไพเราะ เหมาะสำหรับใช้เป็นเพลงขับกล่อมได้ดี มีผู้แต่งไว้เป็นเพลงเถาแล้ว ๓ ทางด้วยกัน คือ ทางหนึ่งเป็นของเรืออากาศเอก โองการ กลีบชื่น แต่งให้กับวงดนตรีไทยกองดุริยางค์ทหารอากาศ เมื่อพ.ศ.๒๔๘๑ อีกทางหนึ่งเป็นของครูเฉลิม บัวทั่ง
เมื่อพ.ศ.๒๕๒๐ นายบุญยงค์ เกตุคง ได้นำทำนอง ๒ ชั้น มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว พร้อมทั้งแต่งเที่ยวเปลี่ยนจนครบเป็นเพลงเถาอีกทางหนึ่ง มีบางตอนของเพลงกำหนดให้ปี่หรือขลุ่ยเป่าทำนองเดี่ยวสอดแทรกไว้ด้วย

บทร้องเพลงขอมกล่อมลูก เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น ประทานโทษโปรดด้วยเถิดเจ้าขา ข้ามาหาพระร่วงผู้เป็นใหญ่
ตูข้านี้เป็นคนไทย มาไกลจากละโว้ธานี
๒ ชั้น ทราบว่าพ่อเมืองของข้าเจ้า เข้ามาผนวชอยู่ที่นี่
ตูข้าจงรักภักดี หวังที่จะกราบพระบาทา
ชั้นเดียว แม้ว่าพระร่วงเธอปรานี บางทีจะรับไว้เป็นข้า
ขอท่านจงได้เมตตา จงโปรดช่วยพาข้าไป

บทละครรำเรื่องพระร่วง
หรือกลนบทละครเรื่องขอมดำดิน
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น เมื่อนั้น ท้าวกาหลังสุริยวงศ์นาถา
ชื่นชมด้วยสมจินดา เสน่หาอุนากรรณพันทวี
๒ ชั้น จึงประทานเครื่องยศอย่างกษัตริย์ พาหุรัดสังวาลพานพระศรี
ให้อยู่วังดาหาปาตี ตำแหน่งที่ลูกหลวงแต่ก่อนมา


ชั้นเดียว แล้วตัดอำนวยอวยพร ให้สถิตสถาวรเป็นสุขา
แม้คิดถึงพี่นางกัลยา เจ้าจงเข้ามาหากัน

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพรธ์ในรัชกาลที่ ๒

บทร้องที่ ๓

๓ ชั้น ครั้นถึงพารากาหลัง ก็เข้าในนิเวศน์วังดาหา
ยืนอยู่ตรงพักตร์นัดดา แล้วมีบัญชาตัดไป
๒ ชั้น เจ้าอย่าหวาดหวั่นพรั่นจิต จะพ่ายแพ้ปัจจามิตรก็หาไม่
อัยกาจะช่วยอวยชัย บันดาลให้ไพรีอัปรา
ชั้นเดียว จงแข็งใจทำให้เหมือนชาย อย่าให้อายปันหยีสุกาหรา
ประสาทพรสั่งสอนพระนัดดา แล้วคืนยังชั้นฟ้าสุราลัย

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพรธ์ในรัชกาลที่ ๒

บทร้องที่ ๔

๓ ชั้น บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป
ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย
อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย
๒ ชั้น ถึงถูกฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย
สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู
ชั้นเดียว บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเชิญมาเราสู้
เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว

“เราสู้”
นายสมภพ จันทรประภา แต่ง

เพลงขว้างดาบ เถา

เพลงขว้างดาบ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงขว้างดาบ อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ เป็นเพลงสำเนียงมอญ ไม่ทราบนามผู้แต่ง นายสมาน ทองสุโชติ นักดนตรีไทยวงกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้คิดแต่งขึ้นใหม่ทั้งทางร้องและทางดนตรี นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ เป็นผู้ขับร้องคนแรก

บทร้องเพลงขว้างดาบ เถา

๓ ชั้น บัดนั้น สมิงนครอินทร์ยิ้มเยาะหัวเราะให้
กราบถวายบังคมพระภูวไนย ในทันใดนั่งตรงหย่งกายา
๒ ชั้น ไขว่มือสอดลอดลงตรงไหล่นั้น ชักดาบสั้นแกว่งกรายทั้งซ้ายขวา
นั่งดำรงทรงกายชายหางตา ทำท่วงทีเงื้อง่าเป็นท่าฟัน
ชั้นเดียว เมื่อนั้น จอมกษัตริย์ตกพระทัยไหวหวั่น
แลขุนนางที่นั่งอยู่ทั้งนั้น ต่างตะลึงอึ้งอั้นพรั่นใจ

บทละครเรื่องราชาธิราช
หลวงพัฒนพงษ์ภักดี
(ทิม สุขยาง์) แต่ง

เพลงเก้าทัพ เถา

เพลงเก้าทัพ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเก้าทัพอัตรา ๒ ชั้นเป็นเพลงเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๔ จังหวะ และท่อนที่ ๒ มี ๕ จังหวะ มีสำเนียงพม่า หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ต่อทำนองเพลงนี้ให้ครูรวม พรหมบุรี เป็นโน้ตสากล และได้มอบให้แก่นายพินิจ ฉายสุวรรณ
นายพินิจ ฉายสุวรรณ เห็นว่าควรนำทำนองท่อนแรกและท่อนที่ ๒ รวมเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้มี ๙ จังหวะ สอดคล้องกับชื่อเพลงเก้าทัพ จากนั้นจึงเพลงอะแซหวุ่นกี้ของกลวงประดิษฐ์ไพเราะมาเป็นแนวทางในการแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และอัตราชั้นเดียว ครบเป็นเถาเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๕
นายนิคม รักขุมแก้ว เป็นผู้แต่งบทร้อง ใช้เนื้อความเรื่องสงครามเก้าทัพ ส่วนทางร้องนายพินิจ ฉายสุวรรณ เป็นผู้แต่ง

บทร้องเพลงเก้าทัพ เถา

๓ ชั้น ครั้นล่วงสมัยกรุงธนต้นรัตนโกสินทร์ พม่าหมิ่นน้ำใจไทยทั้งผอง
เจ้าปดุงยกทัพนับร้อยกอง หวังครอบครองอาณาจักรเป็นหลักชัย
แบ่งกองทัพออกเป็นเก้าเข้าห้าด่าน มีทหารนับแสนอสงไขย
หวังขยี้พวกพ้องพี่น้องไทย จึงยกทัพอันเกรียงไกรตอนเปลี่ยนกรุง
๒ ชั้น สมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อุปโลกน์แม่ทัพรับรบพุ่ง
ด่านเจดีย์สามองค์ทรงปรับปรุง วางแผนปราบเจ้าปดุงโดยแยบยล
สั่งเจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้แล้วกล้า คุมทหารสมหมื่นห้าเข้าไพรสณฑ์
สวรรคโลกเมืองด่างทางด้านบน หลวงอนุรักษ์ คุมพลเข้าต่อตี
ชั้นเดียว พระยาธรรมากับพระยายมราช จัดขบวนล้วนฉลาดบาทวิถี
มุ่งเข้าสู่ยุทธภูมิราชบุรี เพื่อกวาดล้างโยธีให้บรรลัย
ด้วยเดชะพระปรีชาสามารถ มีอุบายชาญฉลาดหาเทียบได้
พม่าหลงกลศึกกษัตริย์ไทย จึงแตกทัพกลับไปเมืองตะเลง

นายนิคม รักขุมแก้ว แต่ง

เพลงเกสรสำอาง เถา

เพลงเกสรสำอาง เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเกสรสำอาง อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า เป็นเพลงประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ สันนิฐานว่ามีมาแต่สมัยอยุธยา นิยมใช้บรรเลงขับร้องส่งปี่พาทย์ในการแสดงละครและลิเก
เมื่อพ.ศ.๒๕๐๙ นายบุญยงค์ เกตุคง นำมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถาคู่กับเพลงอัปสรสำอาง นายวิมล เผยเผ่าเย็น เป็นผู้แต่งทางร้อง

บทร้องเพลงเกสรสำอาง เถา

๓ ชั้น ลำดวนดอกออกดกตกอยู่เต็ม ยี่เข่งเข็มสารภียี่โถ
รสสุคนธ์ปนมะลิผลิดอกโต ดอกส้มโอกลิ่นกล้าน่าดม
๒ ชั้น มะลิวัลย์พันกิ่งมณฑาเทศ แก้วเกดดอกดกอยู่ตกถม
บนเนินเขาล้วนเหล่าลั่นทม ดอกสุกรมยมโดยโชยรส
ชั้นเดียว พิกุลบุนนาคมากมี ตามทางหว่างวิถีสีขาวสด
ชมพลางทางเร่งเลี้ยวลด เลียบตามบรรพตเชิงคีรี

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

เพลงเก็กเหม็ง เถา

เพลงเก็กเหม็ง เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเก็กเหม็ง เถา เป็นเพลงสนุกสนานตื่นเต้นมากเพลงหนึ่ง ครูปน นิลวงศ์ ครูดนตรีชาวอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม (บุตร ครูปาน นิลวงศ์ ครูดนตรีชาวอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม) เป็นผู้แต่งโดยใช้เพลงจีนไม่ทราบชื่อเพลงหนึ่งเป็นหลักในการแต่ง
นายมนตรี ตราโมท เล่าว่า เมื่อครูปน นิลวงศ์ แต่งและบรรเลงเพลงนี้ใหม่ๆ นั้น เป็นแต่เพียงเพลง ๓ ชั้น ต่อมาจึงมีผู้แต่ง ๒ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา

บทร้อง เพลงเก็กเหม็ง เถา

๓ ชั้น ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าจีนตั๋งนั้นฝังเพชร ไม่ขามเข็ดคงกระพันฟันไม่ไหว
ทั้งสองมือถือทุรันน้ำมันไฟ ฟาดผู้ใดไฟพิษติดเต็มกาย
ควบอาชาม้าทรงเข้ายงยุทธ์ สินสมุทรต่อตีไม่หนีหาย
ชิงทุรันมันฟาดปราดประกาย เป็นเพลิงร้ายพราวทั่วทุกตัวตน
๒ ชั้น สินสมุทรหยุดลูบยิ่งวูบวาบ เป็นเปลวปลาบปวดแปลบแสบเส้นขน
ติดแขนขาผ้าเสื้อจนเหลือทน เหมือนเพลิงลนล้มซบสลบไป
ท้าวทมิฬจีนตั๋งขึ้นหลังม้า พอสุดสาครถึงทะลึ่งไล่
กระโจนจับกลับพลาดมันฟาดไฟ ถูกกายไหม้ม้วนซบสลลบลง
ชั้นเดียว มันขึ้นม้าท้าทายเหวยนายทัพ จงเร่งรับแพ้ตามความประสงค์

บทละครเรื่องพระอภัยมณี
สุนทรภู่ แต่ง

วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงกำสรวงสุรางค์ เถา

เพลงกำสรวงสุรางค์ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงกำสรวงสุรางค์ของเดิมเป็นเพลงประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๘ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี ๕ จังหวะ เป็นเพลงที่ได้เค้ามาจากเพลงเบิกฤกษ์หรือเบิกโรงในการแสดงงิ้ว เมื่อเริ่มแสดงจะมีการออกตัวเรียกว่าสี่เซียนหรือสี่ผี พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร
หรือครูแขก) ได้แต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น ให้ชื่อว่า เพลงกำสรวงสุรางค์ ใช้ร้องเป็นเพลงลาในการเล่นเสภาหรือสักวามาแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ.๒๔๗๖ หลวงประดิษฐืไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเพลงกำสรวลสุรางค์ ๓ ชั้น มาตัดลงเป็นอัตรา ๒ ชั้น และชั้นเดียว ทั้งทางร้องและทางดนตรี ครบเป็นเพลงเถา บทร้อง ๓ ชั้นเป็นของเก่า ส่วนบทร้อง ๒ ชั้น และชั้นเดียว นางจันทนา พิจิตรคุรุการ ได้แต่งเพิ่มเติม
เพลงกำสรวงสุรางค์ เถา ยังมีอีกทางหนึ่ง อัตรา ๓ ชั้น จางวางทั่วพาทยโกศล ได้มาจากพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประศัพท์) เป็นเพลง ๒ ท่อน หน้าทับและจังหวะเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
เมื่อพ.ศ.๒๔๘๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะประทับ ณ ตำหนักประเสบัน เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ได้ทรงตัดเพลงกำสรวล
สุรางค์ลงเป็นอัตราชั้นเดียว ให้มีสำเนียงเป็นจีนมากขึ้น ส่วนอัตรา ๒ ชั้น ใช้ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ฉะนั้นเพลงกำสรวงสุรางค์ เถา ทางบ้านจางวางทั่ว พาทยโกศล นั้น จึงมีผู้แต่งรวม ๓ ท่าน คือ
อัตรา ๓ ชั้น ได้มาจากพระยาประสานดุริยศัพท์
อัตรา ๒ ชั้น ใช้ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
อัตราชั้นเดียว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงนิพนธ์
เพลงเถาดังกล่าวนี้ได้บันทึกเป็นโน้ตสากลไว้ นายอาจ สุนทร ศิษย์ของจางวางทั่ว ได้นำไปต่อให้วงปี่พาทย์คณะพาทยรัตน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางคณะพาทยรัตน์ได้ขอให้ภิกษุพรภิรมย์ (นายบุญสม มีสมวงศ์) แต่งบทร้องให้ และได้นำเพลงกำสรวลสุรางค์ทางจางวางทั่วนี้ไปบันทึกเสียงออกอากาศในรายการสังคีตภิรมย์ของธนาคารกรุงเทพ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๓๑ มีนางมาลี เกิดผล ขับร้องเป็นคนแรก
อนึ่ง นายสำราญ เกิดผล อธิบายไว้ว่า เพลงนี้เป็นคนละเพลงกับเพลงมังกรเล่นคลื่น เพราะมีจังหวะความยาวต่างกันชัดเจน (ดูเพลงมังกรเล่นคลื่น เถา) ทั้เข้าใจสับสนกันนั้นเป็นเพราะว่าเพลงกำสรวลสุรางค์กับเพลงมังกรเล่นคลื่น มีท่วงทำนองเป็นจีนเหมือนกัน มีที่มาจากเพลงเบิกฤกษ์ในการเล่นงิ้วของจีนเหมือนกัน และพระประดิษฐ์ไพเราะแต่งเช่นเดียวกัน แต่ทั้ง ๒ เพลงนี้ไม่เหมือนกันเลย

บทร้องเพลงกำสรวลสุรางค์ เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น เห็นเวหาฟ้าขาวดาวจวนดับ
(สร้อย) หอมเอยหอมหวน ลำดวนดอกแก้วพิกุลกรอง
ไม่เหมือนกลิ่นมณฑาทอง ของสงวนเอย
ลีลาศลับลอยล่วงตามดวงแข
แสงทองรองเรืองชำเลืองแล งามเหมือนแพรสีทับทิมริมอัมพร
๒ ชั้น นิจจาเอ๋ยเคยเล่นจะเว้นแล้ว
(สร้อย) หงส์เอยหงส์ทอง เจ้าก็บินลอยล่องอยู่บนฟ้า
หมายจะชมเหมรา ยาใจเอย
จะคลาดแคล้วเคลื่อนคลายสายสมร
ชะรอยกรรมจำพรากต้องจากจร ทินกรเตือนแล้วนะแก้วตา

ดัดแปลงจากบทสักวา
ครั้งรัชกาลที่ ๔

ชั้นเดียว ธำมรงค์วงนี้เป็นประจักษ์
(สร้อย) ดอกเอ๋ยดอกสวาท หัวใจจะขาดเสียแล้วนี่เอย
ในความรักที่พี่มอบขนิษฐา
สไบทิพย์มอบวางต่างพักตรา ได้เวลาแล้วหนอขอลาเอย

นางจันทนา พิจิตรคุรุการ แต่ง
บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น เห็นเวหาฟ้าขาวดาวจวนดับ
(สร้อย) หอมเอยหอมหวน ลำดวนดอกแก้วพิกุลกรอง
ไม่เหมือนกลิ่นมณฑาทอง ของสงวนเอย
ลีลาศลับลอยล่วงตามดวงแข
แสงทองรองเรืองชำเลืองแล งามเหมือนแพรสีทับทิมริมอัมพร
นิจจาเอ๋ยเคยเล่นจะเว้นแล้ว
(สร้อย) หงส์เอยหงส์ทอง เจ้าก็บินลอยล่องอยู่บนฟ้า
หมายจะชมเหมรา ยาใจเอย
จะคลาดแคล้วเคลื่อนคลายสายสมร
ชะรอยกรรมจำพรากต้องจากจร ขอลาไปจะได้นอนพักผ่อนเอย
๒ ชั้น พระพายชายพัดมาอ่อนอ่อน
(สร้อย) พุทธเอยพุทธชาด หอมเย็นใจใสสะอาด
หอมมิขาด หนอกลิ่นสุคนธ์เอย
หอมเกสรสุมณฑาแก้วกาหลง
สายหยุดพุดพุมเรียงเคียงประยงค์ กลิ่นส่งหอมตลบอบอาย
บทของเก่า

ชั้นเดียว รำพึงพี่ร่ำฝากอาลัยรัก
(สร้อย) เสียดายเอยจะคลาคลาด ใจเอ๋ยใจจะขาดไปเสียแล้วเอย
ขอทวยเทพพิทักษ์ภัยทั้งหลาย
ด้วยว่ากรรมจำพรากต้องจากไกล ต่อเมื่อไรเสร็จหน้าที่จะลีลา
ธำมรงค์วงนี้เป็นประจักษ์ ในความรักที่พี่มอบขนิษฐา
สไบทิพย์มอบวางต่างพักตรา ได้เวลาแล้วหนอขอลาเอย

นางจันทนา พิจิตรคุรุการ แต่ง

บทร้องที่ ๓

๓ ชั้น สงสารอนงค์นงนุชสุดสวาท แรมนิราศวังจันทร์บรรจถรณ์
อยู่ในวังดังพระศศิธร ดารากรแวดล้อมอยู่พร้อมเพรียง
เคยฟังขับเพลงขานกังวาลวาท เคล้าพิณพาทย์ฟังเพราะเสนาะเสียง
มโหรีปี่แก้วแจ้วจำเรียง ส่งสำเนียงลำนำนุ่มสำนวน
๒ ชั้น มานอนในไพรพนมต้องลมเร้า ฟังลมเป่าใบไม้อาลัยหวน
ฟังต่างเพลงกล่อมไพรใจรัญจวน ยิ่งกำสรวลสุรางค์กลางพนา
ชั้นเดียว เช้าก็ชมฝูงหงส์ลงร่อนร้อง เยี่ยมหุบห้องปล่องเปลงเหวคูหา
ค่ำก็ชมหมู่ดาวพราวนภา ยามนิทราสุกระงับดับเนตรเอย

พระภิกษุพรภิรมย์
(นายบุญสม มีสมวงศ์) แต่ง

เพลงกระเรียนทอง เถา

เพลงกาเรียนทอง เถา

ประวัติและความเป็นมาของทำนอง

เพลงกาเรียนทอง อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว ๔ จังหวะ เป็นเพลงที่นิยมร้องและบรรเลงกันแพร่หลาย และใช้ในการแสดงโขนละคร
นายมนตรี ตราโมท ได้นำมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ทั้งทางร้องและทางดนตรี ครบเป็นเพลงเถา ประมาณ ๒๔๖๙
นอกจากนี้ยังมีผู้คิดแต่งขึ้นอีกหลายทาง ที่สำคัญมากอีกทางหนึ่งคือของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)แต่งไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ ก็เป็นที่นิยมมากเช่นกัน

บทร้องเพลงกาเรียนทอง เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น เหลือบเห็นกวางขำดำขลับ งามสรรพสะพรั่งดังเลขา
งามเขาเป็นกิ่งกาญจนา งามตานิลรัตน์รูจี
๒ ชั้น คอโก่งเป็นวงราววาด รูปสะอาดราวนางสำอางศรี
เหลียวหน้ามาดูภูมี งามดังนารีชำเลืองอาย
ชั้นเดียว ยามวิ่งวิ่งเร็วดังลมส่ง ตัดตรงมุ่งพลันผันผาย
จอมกษัตริย์เร่งรัถพรรณราย กระทั่งถึงชายไพรวัน

บทละครเรื่องศกุนตลา
พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๖
บทร้องที่ ๒
๓ ชั้น ราชะอันพระธิดาไท้ รูปเห็นแล้วพอใจเป็นหนักหนา
ผิวพักตร์ผ่องพรรณดังจันทรา ลักขณาราวพระศรีอวตาร
๒ ชั้น กิริยามารยาทพิลาสล้ำ ทั้งวาจาน้ำคำก็อ่อนหวาน
อีกทรงธรรมกำกับในสันดาน เห็นเป็นยอดนงคราญในโลกนี้
ชั้นเดียว เหตุไฉนท้าวไทไม่หาคู่ มาสมสู่อยู่ครองมารศรี
อันองค์พระธิดายอดนารี จะอยู่หมันเช่นนี้น่าเสียใจ

บทละครเรื่องสาวิตรี
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงการเวกเล็ก เถา

เพลงการเวกเล็ก อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ เป็นเพลงคู่กันกับเพลงการเวกใหญ่ รวมอยู่ในเพลงช้าเรื่องพญาราชปักษี
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นยุคที่เพลง ๓ ชั้น กำลังเฟื่องฟู พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางค์กูร หรือครูมีแขก) ได้นำเพลงการเวกเล็ก ๒ ชั้น มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น ใช้บรรเลงร้องส่งมโหรีปี่พาทย์ เป็นที่นิยมแพร่หลาย ครั้นถึงยุคนิยมฟังเถา ก็ได้มีผู้ตัดลงเป็นอัตราชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ใช้บรรเลงร้องส่งมโหรีปี่พาทย์แพร่หลายมาจนทุกวันนี้

บทร้องเพลงการเวกเล็ก เถา

๓ ชั้น การเวกโผผินแล้วบินร่อน อยู่ในกลางอัมพรเวหน
ลอยละลิบอยู่ในทิพย์โพยมบน เหลือจะยลแลไปสุดสายตา
๒ ชั้น เข้าแฝงกายอยู่ในสายวลาหก น้อยหรือนกการเวกเอกหนักหนา
เข้าแอบแฝงอยู่ในแสงพระจันทรา อยู่ฟากฟ้ามิได้จรมานอนรัง
ชั้นเดียว ศศิธรจรแจ่มกระจ่างจับ ก็แลลับหายไปไม่มีหวัง
แสนวิตกอกเราเฝ้าระวัง ได้แต่ตั้งตาแลชะแง้คอย

บทของเก่า

เพลงการเวกเล็ก

เพลงการเวกเล็ก อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ เป็นเพลงคู่กันกับเพลงการเวกใหญ่ รวมอยู่ในเพลงช้าเรื่องพญาราชปักษี
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นยุคที่เพลง ๓ ชั้น กำลังเฟื่องฟู พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางค์กูร หรือครูมีแขก) ได้นำเพลงการเวกเล็ก ๒ ชั้น มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น ใช้บรรเลงร้องส่งมโหรีปี่พาทย์ เป็นที่นิยมแพร่หลาย ครั้นถึงยุคนิยมฟังเถา ก็ได้มีผู้ตัดลงเป็นอัตราชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ใช้บรรเลงร้องส่งมโหรีปี่พาทย์แพร่หลายมาจนทุกวันนี้

บทร้องเพลงการเวกเล็ก เถา

๓ ชั้น การเวกโผผินแล้วบินร่อน อยู่ในกลางอัมพรเวหน
ลอยละลิบอยู่ในทิพย์โพยมบน เหลือจะยลแลไปสุดสายตา
๒ ชั้น เข้าแฝงกายอยู่ในสายวลาหก น้อยหรือนกการเวกเอกหนักหนา
เข้าแอบแฝงอยู่ในแสงพระจันทรา อยู่ฟากฟ้ามิได้จรมานอนรัง
ชั้นเดียว ศศิธรจรแจ่มกระจ่างจับ ก็แลลับหายไปไม่มีหวัง
แสนวิตกอกเราเฝ้าระวัง ได้แต่ตั้งตาแลชะแง้คอย

บทของเก่า

เพลงกัลยาเยี่ยมห้อง เถา

เพลงกัลยาเยี่ยมห้อง อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า ประเภทหน้าทับสองไม้ มีท่อนเดียว ๔ จังหวะ สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ทำนองมีสำเนียงจีนสอดแทรกอยู่บ้าง
ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ นักดนตรีไทยวงกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้แต่งขยายเป็นอัตรา ๓ ชั้น
ทั้งเที่ยวแรก และ เที่ยวเปลี่ยน
เมื่อพ.ศ.๒๕๑๐ นายบุญยงค์ เกตุคง จึงนำมาแต่งเพิ่มเติม ให้อัตรา ๒ ชั้น มีเที่ยวเปลี่ยน และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา พร้อมด้วยหางเพลงสำเนียงจีนต่อท้ายไว้อย่างหน้าฟัง
เพลงกัลยาเยี่ยมห้อง เถา นายสกล แก้วเพ็ญกาศ เป็นผู้แต่งทางร้อง และวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร นำออกบรรเลงและขับร้องเป็นครั้งแรก ในรายการดนตรีสำหรับประชาชน
ณ สังคีตศาลา กรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๐

บทร้องเพลงกัลยาเยี่ยมห้อง เถา

๓ ชั้น ครั้นถึงจึงลงจากวอ เสด็จขึ้นบนหอข้างหน้า
สงัดเงียบเสียงคนจำนรรจา ประหลาดจิตคิดน่าอัศจรรย์
๒ ชั้น จึงเสด็จเข้าห้องรูจี เห็นระเด่นมนตรีโศกศัลย์
ก้มกราบบาทมูลทูลถามพลัน พระทรงธรรม์โศกาอยู่ว่าไร
ชั้นเดียว ฤาโรคายายีพระพี่เจ้า จึงโศกเศร้าทุกข์ทนหม่นไหม้
จงตรัสเล่าชี้แจงให้แจ้งใจ น้องจะได้พยาบาลพระทรงฤทธิ์

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

เพลงกัมพุช เถา

เพลงอัตรา ๒ ชั้นสำเนียงเขมรเพลงหนึ่ง ไม่ทราบชื่อ มีลีลาน่าฟัง นายถวิล ทองโปร่ง หัวหน้าวงดนตรีไทยและวงดนตรีสากลของโรงงานสุราบางยี่ขัน จึงให้ครูเขียน ศุขสายชล นำมาแต่งขยายเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๑ ให้ชื่อว่า “เพลงกัมพุช เถา”

บทร้องเพลงกัมพุช เถา

๓ ชั้น บัดนั้น ทหารขอมสั่นหัวแล้วแสร้งว่า
ตัวเราก็มีเมตตา ทั้งวาจาท่านตอบก็ชอบกล
จะกดขี่ข่มเหงคะเนงร้าย เครื่องทำลายภักดีไม่มีผล
พวกท่านก็คนเราก็คน เมื่อยามจนก็ต้องคิดจิตปราณี
๒ ชั้น แต่อัตราวารีที่ส่งเต็ม ยี่สิบเล่มเกวียนใหญ่จึงได้ที่
ตัวเราเข้ามาในคราวนี้ เกวียนมีมาสิบเล่มด้วยกัน
ไฉนจะสามารถบรรทุกหมด ตามกำหนดอัตราที่เคยนั่น
ใจเราสงสารพวกท่านครัน แต่สุดที่จะผันจะผ่อนตาม

บทละครรำเรื่องพระร่วง
หรือกลอนบทละครเรื่องขอมดำดิน
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

ชั้นเดียว พระร่วงคิดดูก็เห็นท่า จะเอาเปรียบเสนาผู้นี้ได้
ถ้าสำเร็จเสร็จสมดังใจ เขาไซร้จะต้องยอมตาม

สันนิษฐานว่า
ครูเขียน สุขสายชล แต่ง

เพลงกันแสงสวาท เถา

เพลงกันแสงสวาทเป็นเพลงประเภทหน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว ๘ จังหวะ นายพินิจ
ฉายสุวรรณ แต่งเพลงนี้ขึ้นใหม่ทั้งหมดจนครบเป็นเพลงเถา ทั้งทางร้องและบทร้อง ใช้เพลงโบราณบางเพลงเป็นแนวทางในการแต่ง เพลงนี้ได้รับรางวัลที่ ๓ ในการประกวดการแต่งเพลงไทย
“รางวัลพิณทอง” ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๕

บทร้องเพลงกันแสงสวาท เถา

๓ ชั้น โอ้ว่าความรักเป็นหลักโลก มีทั้งโศกทั้งทุกข์ทั้งสุขสันต์
จะมีจนอย่างไรใจผูกพัน ยังสำคัญในเสน่ห์ประเพณี
รักเป็นมนต์ดลให้เห็นความเป็นชาติ พ้นเป็นทาวอยู่เป็นไทยในศักดิ์ศรี
เป็นโอสถอย่างเอกเสกชีวี ไม่เลือกชั้นชั่วดีมีหรือจน
๒ ชั้น ตัวพี่ยังอาลัยในสวาท เห็นแก่ชาติปล่อยใจจะไร้ผล
รำพึงถึงถิ่นเกิดกำเนิดตน ห่วงทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย
หากมัวหลงระเริงเพลิงราคะ แล้วใครจะกู้ชาติบ้านเมืองให้
ป่านฉะนี้พวกพ้องพี่น้องไทย จะยากเย็นเข็ญใจอย่างไรกัน
ชั้นเดียว ควรแบ่งรักหักใจให้แก่ชาติ พร้อมตั้งสัตย์ด้วยปรารถนามั่น
สลัดรักออกจากตัวชั่วนิรันดร์ เพื่อเผ่าพันธุ์ไทยทั่วทุกตัวตน

นายพินิจ ฉายสุวรรณ แต่ง

เพลงกวางทอง เถา

เพลงตามกวาง อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว ๖ จังหวะ นายถวิล ทองโปร่ง หัวหน้าวงดนตรีไทยและวงดนตรีสากลของโรงงานสุราบางยี่ขัน เห็นว่าเป็นเพลงที่ไพเราะ จึงให้ครูเขียน ศุขสายชล นำมาแต่งขยายเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๑ และให้ชื่อใหม่ว่า “เพลงกวางทอง เถา”

บทร้องเพลงกวางทอง เถา

๓ ชั้น เมื่อนั้น องค์พระหริวงศ์ทรงศักดิ์
จึงมีวาจากับพระลักษมณ์ น้องรักจงเฝ้านางสีดา
ตัวพี่จะรีบสกัดทาง ตามกวางเข้าในไพรพฤกษา
อยู่ที่นี่กว่าพี่จะกลับมา น้องยาอย่าอาวรณ์ร้องฤทัย
๒ ชั้น ว่าพลางทางหยิบศรทรง ลงจากศาลาที่อาศัย
เลาะลัดตัดตรงเข้าพงไพร เลี้ยวไล่ตามทางกวางทอง
ชั้นเดียว ครั้นถึงที่ลำธารก็พานพบ แลประสบเห็นกวางย่างย่อง
เล็มหญ้าท่าทางกวางมอง พระจ้องศรทรงตรงไป

ครูเขียน ศุขสายชล แต่ง
อาศัยเค้าโครงจากเรื่องรามเกียรติ์

เพลงกล่อมพญา เถา

เพลงกล่อมพญา อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า ประเภทหน้าทับสองไม้ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ นายมนตรี ตราโมท ได้เคยแต่งทำนองชั้นเดียวไว้สำหรับการแสดงละคร ต่อมา พ.ศ.๒๕๑๕ เรือเอก แสวง วิเศษสุด ได้แต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา บทร้องเดิม เรือเอก แสวง วิเศษสุด ใช้บทพระราชนิพันธ์เรื่องอิเหนา
ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ครูเฉลิม บัวทั่ง ได้แต่งทางเปลี่ยนเที่ยวกลับขึ้นใหม่ทั้งเถา และนำออกรายการโทรทัศน์ ในรายการสังคีตภิรมย์ของธนาคารกรุงเทพ และให้นางบุญชู ทองเชื้อ ขับร้องเป็นเพลงกล่อมปิดท้ายรายการภาคดึก นายพูนพิศ อมาตยกุล เป็นผู้แต่งบทร้อง

บทร้องเพลงกล่อมพญา เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น เจ้าสายสุดที่รักพี่ แม้นได้เหมือนฉะนี้นะน้องเอํย
จะถนอมเนื้อนวลไว้ชวนเชย ไม่มีเลยที่จะร้างแรมรัก
๒ ชั้น ของพี่มีแล้วมาหายไป เจ็บใจพี่เพียงอกหัก
มาพบโฉมฉายละม้ายนัก พี่รักเจ้าดังดวงตา
ชั้นเดียว เมื่อนั้น อุณากรรณกะหมันวิยาหยา
ฟังปันหยีขับจับวิญญา คิดถึงเชษฐายิ่งอาลัย

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

บทร้องที่ ๒
๓ ชั้น ชื่นชีวิตพิศวาส เชิญไสยาสน์อิงเขนยที่เคยหนุน
จะแนบข้างเคียงหมอนอ่อนละมุน เอื้ออุ่นเคล้าคลอพะนอนอน
๒ ชั้น จะกล่อมจอมใจให้สุขสม รื่นรมย์ด้วยสำเนียงเสียงออดอ้อน
หลับเสียเถิดพี่ยาอย่าอาวรณ์ จนกว่าพี่จะหลับไปกับทรวง

นายพูนพิศ อมาตยกุล แต่ง

เพลงกล่อมนารี

เพลงกล่อมนารี อัตราชั้นเดียว เป็นเพลงเก่าอยู่ในเพลงเรื่องสีนวล ส่วนอัตรา ๒ ชั้น เป็นเพลงประเภทหน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว ๔ จังหวะ
นายมาตรี ตราโมท ได้มาจากนางเคลือบ ต้นเสียงหุ่นกระบอกของ ม.ร.ว. เถาะ พยัคฆเสนา แล้วแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา เมื่อพ.ศ.๒๔๗๔

บทร้องเพลงกล่อมนารี เถา

๓ ชั้น พระแย้มยิ้มพริ้มเพราเหย้าหยอก สัพยอกยียวนสรวลสม
พักตร์เจ้าเศร้าสลดอดบรรทม พี่จะกล่อมเอวกลมให้นิทรา
๒ ชั้น สายสมรนอนเถิดพี่จะกล่อม เจ้างามจริงพริ้งพร้อมดังเลขา
นวลละอองผ่องพักตร์โสภา ดังจันทราทรงกลดหมดมลทิน
ชั้นเดียว งามเนตรดังเนตรมฤคมาศ งามขนงวงวาดดังคันศิลป์
อรชรอ้อนแอ้นดังกินริน หวังถวิลไม่เว้นวายเอย

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

เพลงกราวรำมอญ

เพลงกราวรำ อัตรา ๒ ชั้น และชั้นเดียว เป็นเพลงเก่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจองเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร หรือ ครูมีแขก) ได้ปรับปรุงเป็นกราวรำ ๒ ชั้น ของเดิม โดยแปลงเสียงตอนท้าย ท่อนที่ ๒ ตอนจบให้ต่ำลงมาเป็นคู่ ๔ แล้วเรียกว่า กราวรำมอญ ๒ ชั้น ใช้บรรเลงร้องส่งมโหรีตับนางนาค ซึ่งประกอบด้วยเพลงนางนาค พัดชา ลีลากระทุ่ม กราวรำมอญ และโล้
นายมนตรี ตราโมท ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ยังมีเพลงกราวรำอีกทางหนึ่งเรียกว่า เพลงกราวรำเสภา ๒ ชั้น ใช้ในการเล่นเสภา โดยเปลี่ยนเสียงตอนท้ายท่อนที่ ๒ ตอนจบให้ต่ำลงมาจากเพลงกราวรำมอญอีก ๑ เสียง ซึ่งน่าจะเป็นผลงานของพระประดิษฐ์ไพเราะอีกเช่นกัน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดความนิยมเพลง ๓ ชั้นกันมากขึ้นเนื่องมีการเล่นบอกสักวา พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) จึงได้ปรับปรุงขยายเพลงมโหรีตับนางนาคทั้งหมดขึ้นเป็นเพลง ๓ ชั้นทุกเพลง รวมทั้งเพลงกราวรำมอญ จึงเกิดเป็นเพลงกราวรำมอญ ๓ ชั้น ของพระยาประสานดุริศัพท์อีกทางหนึ่ง
จนถึง พ.ศ.๒๔๙๐ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้แต่งขยายเพลงกราวรำมอญ ๒ ชั้นชองพระประดิษฐ์ไพเราะขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้นอีกทางหนึ่ง และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา พร้องทั้งได้แต่งบทร้องสำหรับเพลงกราวรำมอญ เถา ที่มีความหมายในการอวยชัยให้พรแก่ผู้ที่รักดนตรีไทย
ต่อมานายโชติ ดุริยประณีต ได้ประพันธ์บทร้องเพลงกราวรำมอญ เถา ขึ้นอีกบทหนึ่งใช้บรรเลงเป็นลา

บทร้อง เพลงกราวรำมอญ เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น ขอท่านผู้ชอบดนตรีจงมีสุข นิราศภัยไกลทุกข์ทุกสิ่งสรรพ์
หวังสิ่งใดได้สมอารมณ์พลัน เกษมสันต์ทุกทิวาราตรีกาล
๒ ชั้น อายุขัยไม่น้อยกว่าร้อยปี มีวรรณะผ่องรีพละหาญ
ลาภไหลมาเนืองนองดังท้องธาร เกียรติตระการคู่ฟ้าธาตรี

เพลงกราวแขกเงาะ

เพลงกราวแขกเงาะ อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า เป็นเพลงเกร็ดภาษา มีลีลาสนุก สนาน มี ๒ ท่อน จัดรวมอยู่ในตับย่ำค่ำไทยหรือชุดสิบสองภาษา
เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ นายบุญยงค์ เกตุคง นำมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ เป็นผู้แต่งทางร้องและบทร้อง

บทร้อง เพลงกราวแขกเงาะ เถา

๓ ชั้น ไปเถิดไปพวกเราไปๆ ปราบปราม เราพยายามรบรับเพื่อขับไล่
แม้ผู้ใดลอยหน้ามาข่มเหง ไม่ยำเกรงเราไซร้ได้เห็นดี
เราพร้อมยอมพลีอุทิศชีวิตถวาย แม้ตัวจะตายเราพร้อมยอมสู้ตาย
เกิดก่อเป็นกายต้องตายกันทุกคน ตายร้ายก็หนตายดีก็หนึ่งครั้ง
เราตายมีหวังเกียรติประวัติปรากฏ ทุกๆ หยาดหยดเลือดเนื้อเพื่อชาติไทย
เดินเถิดเดินพวกเราเดินมุ่งไป เรารวมใจรวมรักสามัคคี
รักใครๆ ไว้มีๆ รักเพียง ชีวีก็ตัดสลัดได้
๒ ชั้น พวกเราเหวยวันนี้วา เกรียวกราวฉาวฉ่าเฮฮาอยู่สนั่น
ยิ่งยวดกวดขันเกณฑ์เข้ากองทัพ แต่งตัวเสร็จสรรพยกทัพไปต่อต้าน
ผู้ใดรุกรานจับได้ให้มัดมา
เพื่อนเราเอํยเพื่อนเอ๋ยเพื่อนอย่าช้า เสียงเฮเสียงฮาเริงร่าอยู่คะนอง
เต้นรำลำพองคะนองคณานึก อาสาสู้ศึกหาญฮึกอยู่เกรียวกราว
ชั้นเดียว พวกเราทั้งผองมาร้องเพลงกราว กองหน้าแหลนหลาวเดินก้าวเยาะๆ
เต้นกราวแขกเงาะเหมาะเจาะกลอนกาพย์ กองหลังหอกดาบวับวาบแกว่งไกว
ปีกขวาหน้าไม้ปีกซ้ายเกาทัณฑ์
พวกเราร่วมจิตไม่คิดคร้ามครั่น ถึงแม้ชีวันจะมรณา
เราเดินรุดหน้ามิได้ไหวหวั่น ต้องกอดคอกันประจัญไพรี

นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ แต่ง

เพลงกระบี่ลีลา

เพลงกระบี่ลีลา อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว ๔ จังหวะ ใช้บรรเลงในการแสดงโขนละคร และเป็นเพลงอันดับที่ ๓ ในตับเรื่องรามเกียรติ์ ตอนอินทรชิตแผลงศรนาคบาศ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ตับนาคบาศ
เพลงนี้มีผู้แต่งขึ้นเป็นเพลงเถาหลายทาง ทางแรกหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลป-บรรเลง) แต่งให้วงดนตรีคุรุสภาบรรเลงเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๔๙๓ อีกทางหนึ่ง เรือเอก ชิต แฉ่งฉวี แต่งขึ้นเป็นเพลงเถาทั้งทางร้องและทางดนตรีสำหรับวงเครื่องสาย เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๓ และมอบให้นายเล็ก ทีฆกุล เป็นผู้แต่งบทร้อง อาศัยเคล้าโคลงจากเรื่องรามเกียรติ์ มอบให้นางเบญจรงค์ แฉ่งฉวี ร้องเป็นคนแรก
ต่อมานายประกอบ สุกัณหะเกตุ ได้แต่งทำนอง ๓ ชั้นขึ้นใหม่อีกทางหนึ่ง เที่ยวแรกเป็นทางธรรมดา ลีลาของเพลงเป็นไปอย่างเรียบๆ เที่ยวกลับเป็นทางเปลี่ยนมีทั้งลูกล้อลูกขัดและลูกเหลื่อมสลับกันไป ส่วนทำนอง ๒ ชั้น เที่ยวแรกคงใช้ทางเดิม แต่เที่ยวกลับใช้ทางของครูเจือ เสนาวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งได้ทำทางเปลี่ยนไว้เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๘๐ และนายประกอบ สุกัณหะเกตุ ได้ตัดลงเป็นชั้นเดียวครบเป็นเพลงเถา เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๓
อนึ่ง นายมนตรี ตราโมท อธิยายเพิ่มเติมว่า เดิมเพลงกระบี่ลีลา ๒ ชั้น ร้องและบรรเลงท่อนเดียว ต่อมาท่านได้ท่อน ๒ จากนางเคลือบ ต้นเสียงหุ่นกระบอกของ ม.ว.ร.เถาะ พยัคฆเสนา แล้วนำมาเผยแพร่ที่กรมศิลปากรเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐

บทร้องเพลงกระบี่ลีลา

๓ ชั้น จึงตรัสสั่งกำแหงหนุมาน เร่งดำริตริการแก้ไข
ก่อนรุ่งรางสว่างแสงอโณทัย ให้ได้สังกรณ์ตรีชวา
๒ ชั้น อันอยู่ยอดสัตภัณฑ์บรรพต ปรากฏจรดห้วงเวหา
ขอให้ขุนกระบี่ลีลา กลับมาให้ทันทินกร
ชั้นเดียว แม้แจ้งแสงสีรวีวรรณ ไม่ทันกลับจากสิงขร
พระลักษมณ์อนุชาจะม้วยมรณ์ จงรีบบทจรให้ทันกาล

เพลงกระต่ายชมเดือน

เพลงกระต่ายชมเดือน อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว
๔ จังหวะ บรรเลงรวมเป็นชุด มี เพลง คือ เพลงกระต่ายชมเดือน กระต่ายเต้น และกระต่ายกินน้ำค้าง หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเพลงนี้มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา เมื่อราว พ.ศ.๒๔๗๑
เพลงกระต่ายชมเดือน เถา วงปี่พาทย์คณะศรทองเคยนำมาบรรเลงเผยแพร่ ณ สังคีตศาลา กรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๓

บทร้องเพลงกระต่ายชมเดือน

๓ ชั้น จันทร์ตรงทรงกลดบนรถรัตน์ งามแฉล้มแจ่มจรัสรัศมี
ช่างสวยสดหมดเมฆไม่ราคี ทั้งแสงสีสุกสว่างกระจ่างตา
ยิ่งชมก็ยิ่งเพลินเจริญจิต ยิ่งพินิจยิ่งอร่ามงามหนักหนา
แล้วหวนจิตคิดถึงแก้วกัลยา พระจันทราหรือจะเปรียบไม่เทียมกัน
๒ ชั้น อันพักตร์น้องผ่องนวลวิไลล้ำ ทั้งคมขำเปล่งฉวีพร้อมศรีสรรพ์
ในโลกหาเปรียบไม่เทียบทัน ดวงพระจันทร์หรือจะสู้คู่ชีวี
ชั้นเดียว พระจันทร์งามหรือก็ดำกระต่ายแต้ม ไม่แฉล้มเหมือนมิ่งมารศรี
ช่างน่าเชยน่าสงวนนวลกายี ขวัญเนตรพี่น่าประโลมยิ่งโฉมจันทร์

เพลงกบเต้น

เพลงกบเต้น อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า ประเภทหน้าทับสองไม้ มี ๒ ท่อน รวมอยู่ในเพลงช้า เรื่องเต่าทอง
เมื่อพ.ศ.๒๕๐๙ นายพินิจ ฉายสุวรรณ ได้นำเพลงกบเต้น อัตรา ๒ ชั้น มาปรับปรุงแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ใช้เพลงบังใบของจางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นแนวทางในการแต่ง พร้อมทั้งนำเนื้อความจาดนิทานอีสปเรื่องกบเลือกนาย มาแต่งเป็นบทร้อง นางบุญชู ทองเชื้อ นักร้องวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แต่งทางร้อง

บทร้อง เพลงกบเต้น เถา

๓ ชั้น สงสารกบเลือกนายหวังหมายพึ่ง ไปขอถึงชั้นฟ้าเวหาสวรรค์
ขอนายเอามาไว้ได้ป้องกัน ฟ้าประทานขอนไม้ให้ลงมา
๒ ชั้น อยู่มาเห็นว่าขอนไม้นั้น ขาดความสำคัญไม่เข้าท่า
ยายมีภัยใครเล่าเขาจะมา ป้องกันชีวาให้รอดตาย
ชั้นเดียว ไปขอใหม่คราวนี้ดีหนักหนา จึงส่งนกกระสาลงมาให้
ถูกจับชิมลิ้มรสจนหมดไป จำไว้อย่าเอาเช่นกบเต้นเอย

นายพินิจ ฉายสุวรรณ แต่ง

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

ปณิธานสืบสานศิลป์

ปี่พาทย์บรรเลงเพลงโคมเวียน
ร้องเพลงมหาชัย
พระบารมีปกเกศาข้าพระบาท
ผู้เรียนศาสตร์แห่งศิลป์ทุกสิ่งสรรค์
บรรลุจุดมุ่งหวังครั้งสำคัญ
รับรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์
รับ
เป็นมงคลยิ่งใหญ่ในชีวิต
ขอตั้งจิตศึกษาไปให้สูงส่ง
ได้สร้างสรรค์ศิลป์ไทยให้ยืนยง
ตามรออยองศ์พระอัครศิลปิน
ร้องพญาสี่เสา
ทั้งองศ์พระวิศิษย์ศิลป์ปิ่นชาวไทย
ดุจดังธงนำชัยผู้ใฝ่ศิลป์
ขอพระองศ์ดำรงอยู่คู่นินทร์
เป็นมิ่งขวัญศิลปินสืบไปเทอญ
ปี่พาทย์บรรเลงเพลงโปรยข้าวตรอก
ปี่พาทย์บรรเลงเพลงคุกพาทย์