วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงแขกเชิญเจ้า เถา

เพลงแขกเชิญเจ้า เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงแขกเชิญเจ้า อัตรา ๒ ชั้น ประเภทหน้าทับสดายง (เทียบเท่าหน้าทับปรบไก่) มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๘ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี ๕ จังหวะ เป็นเพลงเก่าที่มีสำเนียงแขก เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ครูเฉลิม บัวทั่ง เมื่อครั้งเป็นผู้ควบคุมดนตรีไทยของกรมตำรวจ ได้นำเพลงแขกเชิญเจ้า ๒ ชั้น มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ทั้งทางร้องและทางดนตรี มีสำเนียงแขกเช่นเดียวกับ ๒ ชั้น ให้วงปี่พาทย์ไม้แข็งคณะศิษย์ดุริยศัพท์ (วงของครูเฉลิม บัวทั่ง) บรรเลงเป็นครั้งแรก ณ สังคีตศาลา กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ และได้นำมาให้วงดนตรีคณะเสริมมิตรบรรเลงบันทึกเสียงเพื่ออกอากาศทางสถานีวิทยุเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔
ประมาณพ.ศ.๒๔๙๙ นายมนตรี ตราโมท ได้นำเพลงแขกเชิญเจ้า ๒ ชั้น มาบรรจุเนื้อร้องใหม่ แล้วประดิษฐ์ท่ารำเป็นระบำเทพบันเทิง ประกอบในการแสดงละครเรืองอิเหนา ตอนลมหอบ

บทร้องเพลงแขกเชิญเจ้า เถา

๓ ชั้น คิดพลางทางถวายเครื่องบวงสรวง บำบวงเทวราชเรืองศรี
ขออารักษ์หลักเมืองเรืองฤทธี ได้ปรานีเชิญช่วยจงสมคิด
ให้ประไหมสุหรีนั้นมีบุตร เป็นบุรุษรูปโฉมประโลมใจ
ได้ครอบครองพระนครขจรฤทธิ์ ลือสะท้านทั่วทิศทั้งปวง
๒ ชั้น แม้สมปรารถนาดังว่าขาน จะแต่งแก้บนบานบวงสรวง
เทียนทองชวาลาบุปผาพวง พรรณรายรุ้งร่วงเนาวรัตน์
จะแผ่ทองเก้าหุ้มเสาศาล เอาตาดคำทำม่านเพดานดัด
อีกทั้งธงทิวราชวัติ ชุมสายเศวตฉัตรชัชวาล
ชั้นเดียว ทั้งแพะแกะโคกระทิงสิ่งละร้อย จะปล่อยไว้ในเทวสถาน
จะสมโภชเจ็ดทิวาราตรี มีงานมหรสพครบครัน

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

ไม่มีความคิดเห็น: