วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงเก้าทัพ เถา

เพลงเก้าทัพ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเก้าทัพอัตรา ๒ ชั้นเป็นเพลงเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๔ จังหวะ และท่อนที่ ๒ มี ๕ จังหวะ มีสำเนียงพม่า หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ต่อทำนองเพลงนี้ให้ครูรวม พรหมบุรี เป็นโน้ตสากล และได้มอบให้แก่นายพินิจ ฉายสุวรรณ
นายพินิจ ฉายสุวรรณ เห็นว่าควรนำทำนองท่อนแรกและท่อนที่ ๒ รวมเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้มี ๙ จังหวะ สอดคล้องกับชื่อเพลงเก้าทัพ จากนั้นจึงเพลงอะแซหวุ่นกี้ของกลวงประดิษฐ์ไพเราะมาเป็นแนวทางในการแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และอัตราชั้นเดียว ครบเป็นเถาเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๕
นายนิคม รักขุมแก้ว เป็นผู้แต่งบทร้อง ใช้เนื้อความเรื่องสงครามเก้าทัพ ส่วนทางร้องนายพินิจ ฉายสุวรรณ เป็นผู้แต่ง

บทร้องเพลงเก้าทัพ เถา

๓ ชั้น ครั้นล่วงสมัยกรุงธนต้นรัตนโกสินทร์ พม่าหมิ่นน้ำใจไทยทั้งผอง
เจ้าปดุงยกทัพนับร้อยกอง หวังครอบครองอาณาจักรเป็นหลักชัย
แบ่งกองทัพออกเป็นเก้าเข้าห้าด่าน มีทหารนับแสนอสงไขย
หวังขยี้พวกพ้องพี่น้องไทย จึงยกทัพอันเกรียงไกรตอนเปลี่ยนกรุง
๒ ชั้น สมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อุปโลกน์แม่ทัพรับรบพุ่ง
ด่านเจดีย์สามองค์ทรงปรับปรุง วางแผนปราบเจ้าปดุงโดยแยบยล
สั่งเจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้แล้วกล้า คุมทหารสมหมื่นห้าเข้าไพรสณฑ์
สวรรคโลกเมืองด่างทางด้านบน หลวงอนุรักษ์ คุมพลเข้าต่อตี
ชั้นเดียว พระยาธรรมากับพระยายมราช จัดขบวนล้วนฉลาดบาทวิถี
มุ่งเข้าสู่ยุทธภูมิราชบุรี เพื่อกวาดล้างโยธีให้บรรลัย
ด้วยเดชะพระปรีชาสามารถ มีอุบายชาญฉลาดหาเทียบได้
พม่าหลงกลศึกกษัตริย์ไทย จึงแตกทัพกลับไปเมืองตะเลง

นายนิคม รักขุมแก้ว แต่ง

ไม่มีความคิดเห็น: