วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงขอมกล่อมลูก เถา

เพลงขอมกล่อมลูก เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงขอมกล่อมลูก อัตรา ๒ ชั้น ประเภทหน้าทับปรบไก่ มีท่อนเดียว ๖ จังหวะ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองเยือกเย็นไพเราะ เหมาะสำหรับใช้เป็นเพลงขับกล่อมได้ดี มีผู้แต่งไว้เป็นเพลงเถาแล้ว ๓ ทางด้วยกัน คือ ทางหนึ่งเป็นของเรืออากาศเอก โองการ กลีบชื่น แต่งให้กับวงดนตรีไทยกองดุริยางค์ทหารอากาศ เมื่อพ.ศ.๒๔๘๑ อีกทางหนึ่งเป็นของครูเฉลิม บัวทั่ง
เมื่อพ.ศ.๒๕๒๐ นายบุญยงค์ เกตุคง ได้นำทำนอง ๒ ชั้น มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว พร้อมทั้งแต่งเที่ยวเปลี่ยนจนครบเป็นเพลงเถาอีกทางหนึ่ง มีบางตอนของเพลงกำหนดให้ปี่หรือขลุ่ยเป่าทำนองเดี่ยวสอดแทรกไว้ด้วย

บทร้องเพลงขอมกล่อมลูก เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น ประทานโทษโปรดด้วยเถิดเจ้าขา ข้ามาหาพระร่วงผู้เป็นใหญ่
ตูข้านี้เป็นคนไทย มาไกลจากละโว้ธานี
๒ ชั้น ทราบว่าพ่อเมืองของข้าเจ้า เข้ามาผนวชอยู่ที่นี่
ตูข้าจงรักภักดี หวังที่จะกราบพระบาทา
ชั้นเดียว แม้ว่าพระร่วงเธอปรานี บางทีจะรับไว้เป็นข้า
ขอท่านจงได้เมตตา จงโปรดช่วยพาข้าไป

บทละครรำเรื่องพระร่วง
หรือกลนบทละครเรื่องขอมดำดิน
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น เมื่อนั้น ท้าวกาหลังสุริยวงศ์นาถา
ชื่นชมด้วยสมจินดา เสน่หาอุนากรรณพันทวี
๒ ชั้น จึงประทานเครื่องยศอย่างกษัตริย์ พาหุรัดสังวาลพานพระศรี
ให้อยู่วังดาหาปาตี ตำแหน่งที่ลูกหลวงแต่ก่อนมา


ชั้นเดียว แล้วตัดอำนวยอวยพร ให้สถิตสถาวรเป็นสุขา
แม้คิดถึงพี่นางกัลยา เจ้าจงเข้ามาหากัน

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพรธ์ในรัชกาลที่ ๒

บทร้องที่ ๓

๓ ชั้น ครั้นถึงพารากาหลัง ก็เข้าในนิเวศน์วังดาหา
ยืนอยู่ตรงพักตร์นัดดา แล้วมีบัญชาตัดไป
๒ ชั้น เจ้าอย่าหวาดหวั่นพรั่นจิต จะพ่ายแพ้ปัจจามิตรก็หาไม่
อัยกาจะช่วยอวยชัย บันดาลให้ไพรีอัปรา
ชั้นเดียว จงแข็งใจทำให้เหมือนชาย อย่าให้อายปันหยีสุกาหรา
ประสาทพรสั่งสอนพระนัดดา แล้วคืนยังชั้นฟ้าสุราลัย

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพรธ์ในรัชกาลที่ ๒

บทร้องที่ ๔

๓ ชั้น บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป
ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย
อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย
๒ ชั้น ถึงถูกฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย
สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู
ชั้นเดียว บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเชิญมาเราสู้
เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว

“เราสู้”
นายสมภพ จันทรประภา แต่ง

ไม่มีความคิดเห็น: