วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงกำสรวงสุรางค์ เถา

เพลงกำสรวงสุรางค์ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงกำสรวงสุรางค์ของเดิมเป็นเพลงประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๘ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี ๕ จังหวะ เป็นเพลงที่ได้เค้ามาจากเพลงเบิกฤกษ์หรือเบิกโรงในการแสดงงิ้ว เมื่อเริ่มแสดงจะมีการออกตัวเรียกว่าสี่เซียนหรือสี่ผี พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร
หรือครูแขก) ได้แต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น ให้ชื่อว่า เพลงกำสรวงสุรางค์ ใช้ร้องเป็นเพลงลาในการเล่นเสภาหรือสักวามาแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ.๒๔๗๖ หลวงประดิษฐืไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำเพลงกำสรวลสุรางค์ ๓ ชั้น มาตัดลงเป็นอัตรา ๒ ชั้น และชั้นเดียว ทั้งทางร้องและทางดนตรี ครบเป็นเพลงเถา บทร้อง ๓ ชั้นเป็นของเก่า ส่วนบทร้อง ๒ ชั้น และชั้นเดียว นางจันทนา พิจิตรคุรุการ ได้แต่งเพิ่มเติม
เพลงกำสรวงสุรางค์ เถา ยังมีอีกทางหนึ่ง อัตรา ๓ ชั้น จางวางทั่วพาทยโกศล ได้มาจากพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประศัพท์) เป็นเพลง ๒ ท่อน หน้าทับและจังหวะเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
เมื่อพ.ศ.๒๔๘๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะประทับ ณ ตำหนักประเสบัน เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ได้ทรงตัดเพลงกำสรวล
สุรางค์ลงเป็นอัตราชั้นเดียว ให้มีสำเนียงเป็นจีนมากขึ้น ส่วนอัตรา ๒ ชั้น ใช้ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ฉะนั้นเพลงกำสรวงสุรางค์ เถา ทางบ้านจางวางทั่ว พาทยโกศล นั้น จึงมีผู้แต่งรวม ๓ ท่าน คือ
อัตรา ๓ ชั้น ได้มาจากพระยาประสานดุริยศัพท์
อัตรา ๒ ชั้น ใช้ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
อัตราชั้นเดียว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงนิพนธ์
เพลงเถาดังกล่าวนี้ได้บันทึกเป็นโน้ตสากลไว้ นายอาจ สุนทร ศิษย์ของจางวางทั่ว ได้นำไปต่อให้วงปี่พาทย์คณะพาทยรัตน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางคณะพาทยรัตน์ได้ขอให้ภิกษุพรภิรมย์ (นายบุญสม มีสมวงศ์) แต่งบทร้องให้ และได้นำเพลงกำสรวลสุรางค์ทางจางวางทั่วนี้ไปบันทึกเสียงออกอากาศในรายการสังคีตภิรมย์ของธนาคารกรุงเทพ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๓๑ มีนางมาลี เกิดผล ขับร้องเป็นคนแรก
อนึ่ง นายสำราญ เกิดผล อธิบายไว้ว่า เพลงนี้เป็นคนละเพลงกับเพลงมังกรเล่นคลื่น เพราะมีจังหวะความยาวต่างกันชัดเจน (ดูเพลงมังกรเล่นคลื่น เถา) ทั้เข้าใจสับสนกันนั้นเป็นเพราะว่าเพลงกำสรวลสุรางค์กับเพลงมังกรเล่นคลื่น มีท่วงทำนองเป็นจีนเหมือนกัน มีที่มาจากเพลงเบิกฤกษ์ในการเล่นงิ้วของจีนเหมือนกัน และพระประดิษฐ์ไพเราะแต่งเช่นเดียวกัน แต่ทั้ง ๒ เพลงนี้ไม่เหมือนกันเลย

บทร้องเพลงกำสรวลสุรางค์ เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น เห็นเวหาฟ้าขาวดาวจวนดับ
(สร้อย) หอมเอยหอมหวน ลำดวนดอกแก้วพิกุลกรอง
ไม่เหมือนกลิ่นมณฑาทอง ของสงวนเอย
ลีลาศลับลอยล่วงตามดวงแข
แสงทองรองเรืองชำเลืองแล งามเหมือนแพรสีทับทิมริมอัมพร
๒ ชั้น นิจจาเอ๋ยเคยเล่นจะเว้นแล้ว
(สร้อย) หงส์เอยหงส์ทอง เจ้าก็บินลอยล่องอยู่บนฟ้า
หมายจะชมเหมรา ยาใจเอย
จะคลาดแคล้วเคลื่อนคลายสายสมร
ชะรอยกรรมจำพรากต้องจากจร ทินกรเตือนแล้วนะแก้วตา

ดัดแปลงจากบทสักวา
ครั้งรัชกาลที่ ๔

ชั้นเดียว ธำมรงค์วงนี้เป็นประจักษ์
(สร้อย) ดอกเอ๋ยดอกสวาท หัวใจจะขาดเสียแล้วนี่เอย
ในความรักที่พี่มอบขนิษฐา
สไบทิพย์มอบวางต่างพักตรา ได้เวลาแล้วหนอขอลาเอย

นางจันทนา พิจิตรคุรุการ แต่ง
บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น เห็นเวหาฟ้าขาวดาวจวนดับ
(สร้อย) หอมเอยหอมหวน ลำดวนดอกแก้วพิกุลกรอง
ไม่เหมือนกลิ่นมณฑาทอง ของสงวนเอย
ลีลาศลับลอยล่วงตามดวงแข
แสงทองรองเรืองชำเลืองแล งามเหมือนแพรสีทับทิมริมอัมพร
นิจจาเอ๋ยเคยเล่นจะเว้นแล้ว
(สร้อย) หงส์เอยหงส์ทอง เจ้าก็บินลอยล่องอยู่บนฟ้า
หมายจะชมเหมรา ยาใจเอย
จะคลาดแคล้วเคลื่อนคลายสายสมร
ชะรอยกรรมจำพรากต้องจากจร ขอลาไปจะได้นอนพักผ่อนเอย
๒ ชั้น พระพายชายพัดมาอ่อนอ่อน
(สร้อย) พุทธเอยพุทธชาด หอมเย็นใจใสสะอาด
หอมมิขาด หนอกลิ่นสุคนธ์เอย
หอมเกสรสุมณฑาแก้วกาหลง
สายหยุดพุดพุมเรียงเคียงประยงค์ กลิ่นส่งหอมตลบอบอาย
บทของเก่า

ชั้นเดียว รำพึงพี่ร่ำฝากอาลัยรัก
(สร้อย) เสียดายเอยจะคลาคลาด ใจเอ๋ยใจจะขาดไปเสียแล้วเอย
ขอทวยเทพพิทักษ์ภัยทั้งหลาย
ด้วยว่ากรรมจำพรากต้องจากไกล ต่อเมื่อไรเสร็จหน้าที่จะลีลา
ธำมรงค์วงนี้เป็นประจักษ์ ในความรักที่พี่มอบขนิษฐา
สไบทิพย์มอบวางต่างพักตรา ได้เวลาแล้วหนอขอลาเอย

นางจันทนา พิจิตรคุรุการ แต่ง

บทร้องที่ ๓

๓ ชั้น สงสารอนงค์นงนุชสุดสวาท แรมนิราศวังจันทร์บรรจถรณ์
อยู่ในวังดังพระศศิธร ดารากรแวดล้อมอยู่พร้อมเพรียง
เคยฟังขับเพลงขานกังวาลวาท เคล้าพิณพาทย์ฟังเพราะเสนาะเสียง
มโหรีปี่แก้วแจ้วจำเรียง ส่งสำเนียงลำนำนุ่มสำนวน
๒ ชั้น มานอนในไพรพนมต้องลมเร้า ฟังลมเป่าใบไม้อาลัยหวน
ฟังต่างเพลงกล่อมไพรใจรัญจวน ยิ่งกำสรวลสุรางค์กลางพนา
ชั้นเดียว เช้าก็ชมฝูงหงส์ลงร่อนร้อง เยี่ยมหุบห้องปล่องเปลงเหวคูหา
ค่ำก็ชมหมู่ดาวพราวนภา ยามนิทราสุกระงับดับเนตรเอย

พระภิกษุพรภิรมย์
(นายบุญสม มีสมวงศ์) แต่ง

1 ความคิดเห็น:

p.mekloy กล่าวว่า...

มีประโยชน์มากเลยครับ