วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงแขกขาว เถา

เพลงแขกขาว เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงแขกขาว อัตรา ๒ ชั้นของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ เป็นเพลงที่หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แต่งให้ปี่พาทย์วงสวนกุหลาบ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ใช้ร้องและบรรเลงแทรกในตับนางลอยแทนเพลงจีนขิมเล็กเมื่อราว พ.ศ.๒๔๖๔
ต่อมา พ.ศ.๒๔๗๓ ท่านจึงได้แต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา

บทร้องเพลงแขกขาว เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น ทอดองค์ลงกับที่บรรจถรณ์ จะเปลื้องเครื่องอาภรณ์ก็หาไม่
ให้ระทวยระทดสลดใจ แต่ตริตรึกนึกในไปมา
๒ ชั้น โอ้ว่าโฉมเฉลาเยาวลักษณ์ เสียดายศักดิ์วงค์อสัญแดหวา
จะระคนปนศักดิ์จรกา อนิจจาพี่จะทำประการใด
ชั้นเดียว จะคิดไฉนดีนะอกเอ๋ย จะได้เชยชมชิดพิสมัย
พระเร่งร้อนร่านทะยานใจ ดังเพลิงกาฬผลาญไหม้ทั้งกายา

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น เอนองค์ลงบนที่ไสยาสน์ ภูวนาถครวญใคร่ใฝ่ฝัน
ให้แสนเสน่หาอุณากรรณ หมายมั่นว่าเหมือนบุษบา
๒ ชั้น ทั้งทรวดทรงส่งศรีไม่เพี้ยนผิด ยิ่งคิดสงสัยเป็นหนักหนา
แล้วจะเป็นยาหยีของพี่ยา ดวงพักตร์ลักขณาละม้ายนัก




ชั้นเดียว อกเอ๋ยจะทำเป็นไฉน จึงจะสิ้นแหนงแจ้งประจักษ์
จะชวนสนิทติดพันผูกรัก พบพักตร์ก็เมินสะเทิ้นไป

บทละครเรื่องอิเหนา
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

ไม่มีความคิดเห็น: