วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงเขมรเลียบพระนคร เถา

เพลงเขมรเลียบพระนคร เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรเลียบพระนคร เถา นี้ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เมื่อครั้งยังเป็นจางวางศร ศิลปบรรเลง ได้นำทำนองเพลงเขมรเขาเขียว ๒ ชั้น หน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๖ จังหวะ ท่อนที่ ๒ มี ๘ จังหวะ มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ ตามพระบัญชาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เพื่อบรรเลงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ ซึ่งมีเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองเอก และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหลวงลพบุรี
ราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ในครั้งนั้น
ในการบรรเลงรับเสด็จนั้น หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ได้คิดวิธีการบรรเลงแบบใหม่เป็นทางกรอ มีสำเนียงและลีลาอ่อนหวานแปลกไปจากวิธีการบรรเลงปี่พาทย์แนวเดิมที่นิยมบรรเลงเป็นทางเก็บอยู่ในยุคนั้นโดยมิได้ตั้งชื่อเพลง แล้วให้วงปี่พาทย์บรรเลงรับร้องด้วยบทร้องที่นายกระจ่าง แสงจันทร์ มหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหลวงลพบุรีราเมศวร์ ประพันธ์ถวาย พระพรหมปรีชา (กลิ่น จันทร์เรือง) เป็นผู้ขับร้อง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเล้าเจ้าอยู่หัวตรัสถามถึงชื่อเพลง หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้ใช้ปฏิภาณกราบบังคมทูลว่า ชื่อเพลง “เพลงเขมรเลียบพระนคร ๓ ชั้น” ปัจจุบันนิยมเรียกชื่อเพลงนี้ว่า
เขมรเลียบนคร ๓ ชั้น ตีความคำ “ นคร” ว่าความหมาย นครศรีธรรมราช เมืองเอกของมณฑลปักษ์ใต้ในยุคนั้น บางครั้งก็เรียกเพียงสั้นๆ ว่า เขมรเลียบ
ต่อมาหลวงประดิษฐ์ไพเราะได้ตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา

บทร้องเพลงเขมรเลียบพระนคร เถา

๓ ชั้น ข้าบาทข้าแต่นราบดี องค์พระมหาศรียุติธรรมธร
พระเดชฟุ้งผดุงด้าว ขจรข่าวบพิธอดิศร
ข้าบาทชาวราษฎร์ถวายพร ให้พระสถาวรทรงสวัสดี (เอย)

นายกระจ่าง แสงจันทร์ แต่ง

ไม่มีความคิดเห็น: