วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงเขมรโพธิสัตว์ เถา

เพลงเขมรโพธิสัตว์ เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขมรโพธิสัตว์ อัตรา ๒ ชั้นของเก่า หน้าทับปรบไก่ มี ๓ ท่อน ท่อนที่ ๑ และท่อนที่ ๒ มีท่อนละ ๔ จังหวะ ท่อนที่ ๓ มี ๙ จังหวะ กล่าวกันว่า นักดนตรีไทยท่านหนึ่งไม่ทรายนาม แต่งไว้เพื่อนึกถึงชาวเขมรที่อพยพจากเมืองโพธิสัตว์ในประเทศกัมพูชา (ในประเทศกัมพูชาเรียกเมืองนี้ว่า โพสัด) เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ที่จังหวัดราชบุรี จึงตั้งชื่อเพลงนี้ว่า เขมรโพธิสัตว์ ยังมีเพลงไทยสำเนียงเขมรอีกหลายเพลงที่ตั้งชื่อตามแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวเขมรเหล่านั้น เช่น เขมรราชบุรี เขมรปากท่อ เขมรเขาเขียว
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครูช้อย สุนทรวาทิน ได้นำเพลงเขมรโพธิสัตว์ ๒ ชั้น มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา ใช้บทร้องจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

บทร้องเพลงเขมรโพธิสัตว์ เถา

๓ ชั้น โอ้พ่อพลายสายสวาทของพิมเอ๋ย พ่อไม่เคยห่างเหเสน่หา
มานอนหออยู่ด้วยน้องสองเวลา พ่อเคยพาพิมพูดพิไรวอน
นั่นนี่ซี้ซิกสัพยอก เย้าหยอกมิใคร่ให้ไปไกลหมอน
แขนซ้ายเคยให้เมียหนุนนอน ยามร้อนพ่อก็พัดกระพือลม
๒ ชั้น พูดพลอดกอดจูบมิใคร่นอน ช้อนคางเมียเชยและเสยผม
จนรุ่งรางสางสายไม่วายชม แสนภิรมย์รักน้องไม่นอนไกล
ไม่พลิกกายบ่ายหน้าออกไปจาก จะออกปากว่าเหนื่อยนิดหามีไม่
แนบนางข้างเดียวด้วยเจือใจ พ่อไปใครจะกอดให้พิมนอน
ชั้นเดียว จะกินข้าวนั่งเคล้าอยู่คอยท่า ให้พิมมานั่งกินด้วยกันก่อน
ครั้นเมียไม่กินพร้อมพ่อยอมวอน ปั้นป้อนปลอบปลื้มประโลมใจ
เห็นเขาเป็นผัวเมียกันมาหนัก จะรักเหมือนพ่อรักพิมหามีไม่
พ่อต้องมาเด็ดรักหักไป ทำไมจะได้ของรักไปเชยชม

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

ไม่มีความคิดเห็น: