วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงเขนง เถา

เพลงเขนง เถา

ประวัติและที่มาของทำนอง

เพลงเขนง อัตรา ๒ ชั้น ของเก่า มีมาแต่สมัยอยุธยา ประเภทหน้าทับปรบไก่ มี่ ๒ ท่อน ท่อนละ ๔ จังหวะ รวมอยู่ในตับเพลงมโหรีเรื่องเขนง ซึ่งมี ๒ แบบ คือ

แบบที่ ๑ มีเพลง ๖ เพลง คือ
๑. เขนง ๔. โตเล่นแก้ว
๒. ซัดน้ำ ๕. หนุ่มน้อย
๓. ซัดกระแจะ ๖. ระวังระไว

แบบที่ ๒ มีเพลง ๔ เพลง คือ
๑. เขนง ๓. ขอมแปลง
๒. กระทงเขียว ๔. มอญเล็ก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรวบรวมบทร้องมโหรีแต่สมัยอยุธยา บทร้องเพลงเขนงของเดิมมีว่า

แสนเอยแสนงอน ดุจเขนงกาสรที่งอนโง้ง
ที่ไม่ทุจริตคิดโกง จะชักโยงให้สุจริตเอย

พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ได้แต่งขยายเป็นอัตรา ๓ ชั้นไว้ทางหนึ่ง ต่อมาหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้นอีกทางหนึ่ง และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถา เมื่อพ.ศ.๒๔๙๑

บทร้องเพลงเขนง เถา
บทร้องที่ ๑

๓ ชั้น หน้าร้อน เราเคยสุขสโมสรเกษมสันต์
ประหลาดแท้แปรไปเป็นเหมันต์ ให้หนาวครั่นสั่นสะทกหัวอกเรา
๒ ชั้น โอ้หงส์ทองล่องฟ้าเที่ยวหาคู่ น่าอดสูเสียวงศ์หลงกาเหว่า
พาโผผินบินพรากจากลำเนา ไปจับเจ่าจิกขนอยู่หนใด
ชั้นเดียว ละพี่นางเหมราของข้าเจ้า ให้หงอยเหงาทุกข์ทนหม่อนไหม้
ดอกไม้ช่อขอถวายเทพไท ช่วยดลใจหงส์ทองอย่าล่องเลย

บทละครเรื่องเงาะป่า
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕

บทร้องที่ ๒

๓ ชั้น อันความรักก็ประจักษ์แก่ใจเจ้า แต่นงเยาว์ไม่เมตตาจึงว่าขาน
ชะล่าใจเพราะได้เห็นเหตุบันดาล ให้เจ้าพานพบเคราะห์เฉพาะเป็น
๒ ชั้น ชะรอยฤทธิ์นางไม้ไพรพฤกษา แปลงเป็นงูจู่มามิให้เห็น
ไม่ทำร้ายหมายพิฆาตมาดลำเค็ญ จะชี้เช่นพอให้รู้ว่าคู่นาง
ชั้นเดียว เพราะฉะนี้พี่จึงกล้าว่าเต็มปาก จะขอฝากรักน้องอย่าหมองหมาง
เจ้าจงใคร่ควรคิดอย่าจิตจาง พี่ขอวางชีพไว้ในกัลยา

บทละครเรื่องเงาะป่า
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕

ไม่มีความคิดเห็น: